-/> การหมั้น‬ ก่อนแต่งงาน

หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: การหมั้น‬ ก่อนแต่งงาน  (อ่าน 1881 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ดูแลเรื่องกฏหมายของเว็บ
คะแนนน้ำใจ 1010
กระทู้: 130
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« เมื่อ: 22 ธันวาคม 2558, 05:13:57 PM »

Permalink: การหมั้น‬ ก่อนแต่งงาน
‪#‎การหมั้น‬
การหมั้น เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงกันว่า ชายและหญิงคู่หมั้นจะทำการสมรสกันในอนาคต สัญญาหมั้นไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีให้อีกฝ่ายหนึ่งทำการสมรสได้ ถึงแม้ว่าจะมีข้อตกลงในเรื่องเบี้ยปรับกันเอาไว้ ข้อตกลงนั้นก็เป็นอันใช้บังคับไม่ได้
ตัวอย่าง
นายแดง และนางสาวสร้อยศรีได้ทำการหมั้นกัน ต่อมา นางสาวสร้อยศรีเห็นว่านายแดงยากจนไม่อยากจะสมรสด้วย ที่ตกลงรับหมั้น ในตอนแรกนั้นเพราะคิดว่านายแดง เป็นคนมีฐานะดี นายแดงจะมาขออำนาจ ศาลบังคับให้นางสาวสร้อยศรีทำการสมรสกับตนไม่ได้ เพราะในเมื่อฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใดไม่สมัครใจที่จะเป็นสามีภริยากันแล้ว หากว่าบังคับให้ทำการสมรสกัน ก็จะก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัวอย่างแน่นอน
บุคคลที่จะหมั้นกันได้นั้น ทั้งชาย และหญิงจะต้องมีอายุอย่างน้อยสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ กฎหมายกำหนดอายุของทั้ง 2 คน ว่าแต่ละคนต้องมีอายุ ขั้นต่ำ 17 ปีบริบูรณ์ ดังนั้นหากชายอายุ 17 ปี หมั้นกับหญิงอายุ 15 ปี การหมั้นย่อมเป็นโมฆะ
เราคงได้ยินกันเสมอว่า บางคนเกิดมาก็มีคู่หมั้นอยู่แล้ว พ่อแม่เป็นคนหมั้นไว้ให้ตั้งแต่บุตรยังอยู่ในท้อง เพื่อไม่ให้เงินทองรั่วไหลไปไหน แต่ในแง่กฎหมายแล้ว การหมั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น เพราะในขณะทำการหมั้นนั้นชายและ หญิงอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์
บุคคลบางประเภทแม้มีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ทำการหมั้นกันไม่ได้เลย บุคคลประเภทนี้ได้แก่
– คนวิกลจริต คนบ้า หรือคนที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
– บุคคลผู้เป็นบุพการี (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด) จะหมั้นกับผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน ลื้อ) ไม่ได้
– บุคคลที่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมแต่มารดา หรือบิดาเพียงอย่างเดียว
– บุคคลที่มีคู่สมรสอยู่แล้ว บุคคลที่จะให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการทำการหมั้นได้แก่
บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดาและมารดา
– บิดาหรือมารดาเพียงคนใดคนหนึ่ง ในกรณีที่อีกคนหนึ่งถึงแก่กรรม หรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพ หรือฐานะที่อาจให้ ความยินยอมหรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดา หรือบิดาได้
– ผู้รับบุตรบุญธรรมให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรม
– มารดา ในกรณีที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน
– ผู้ปกครองในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมโดยตรง หรือมีบุคคลดังกล่าวแต่ถูกถอนอำนาจปกครอง
การหมั้นที่ปราศจากการให้ความยินยอมในกรณีที่ต้องให้ความยินยอม นั้นเป็นการหมั้นที่ไม่สมบูรณ์อาจถูกเพิกถอนได้
ของหมั้น
ของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ให้ไว้แก่ฝ่ายหญิงในขณะทำการหมั้นเพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรสกับหญิง
ตามประเพณีของไทยเรานั้น ฝ่ายชายเป็นฝ่ายที่นำของหมั้นไปให้แก่ฝ่ายหญิง ที่กล่าวว่าฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงนั้นไม่ได้หมายความเฉพาะชายหญิงคู่หมั้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงบุคคลอื่น ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับชายหรือ หญิงคู่หมั้นด้วย เช่น บิดามารดา ผู้ปกครอง หากบุคคลเหล่านี้ทำการหมั้น แทนชายหรือหญิง การหมั้นจะผูกพันชายหรือหญิงต่อเมื่อชายหรือหญิงคู่หมั้นตกลงยินยอมในการหมั้นนั้นด้วย
ตัวอย่าง
นายแดงอายุ 22 ปี รักนางสาวสุชาดา ซึ่งมีอายุ 19 ปี เป็นอันมาก แต่เนื่องจากนางสาวสุชาดา ไม่ชอบตน นายแดงจึงไปขอหมั้น นางสาวสุชาดากับนางสร้อย มารดาของนางสาวสุชาดา โดยที่นางสาวสุชาดา ไม่ได้รู้เห็นยินยอมแต่อย่างใด นางสร้อยได้ตกลงรับหมั้นนายแดง และนายแดงได้ส่งมอบแหวนเพชรให้เป็นของหมั้นในวันนั้น หากนางสาวสุชาดาไม่ยอมทำการสมรสกับนายแดงไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ นายแดงจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนางสาวสุชาดาไม่ได้ เพราะสัญญาหมั้นรายนี้นางสาวสุชาดาไม่ได้เป็นคู่สัญญาแต่อย่างใด ของหมั้นนั้นจะต้องมีการหมั้นและส่งมอบของหมั้นในขณะทำการหมั้น
ตัวอย่าง
คำพิพากษาฎีกาที่ 1852/2506 จำเลยขอหมั้นน้องสาวโจทก์เพื่อ ให้แต่งงานกับบุตรจำเลยแต่จำเลยไม่มีเงิน จึงทำสัญญากู้ให้โจทก์ยึดถือไว้ ต่อมาบุตรจำเลยไม่ยอมแต่งงานกับน้องสาวโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินตาม สัญญากู้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญากู้ดังกล่าวนี้ เป็นเพียงสัญญาที่จะให้ ทรัพย์สินในวันข้างหน้า ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กันอย่างแท้จริง เจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาก็มิได้มุ่งต่อการให้สัญญากู้ตกเป็นของอีกฝ่ายหนึ่ง ในสภาพของหมั้น และไม่มีความประสงค์ให้ตกเป็นสิทธิของหญิงเมื่อได้ทำ การสมรสแล้ว ในกรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่า ได้มีการให้ของหมั้นกันตามกฎหมาย แล้วโจทก์จะฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ไม่ได้ เพราะสัญญากู้รายนี้ไม่มีหนี้เดิมต่อกัน
ในกรณีเช่นนี้ ถือว่าสัญญากู้เป็นเพียงสัญญาที่จะให้ทรัพย์สินเป็นของหมั้นในอนาคต
สินสอด
สินสอด เป็นทรัพย์สิน ซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตร บุญธรรม หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส
บุคคลที่อยู่ในฐานะจะรับสินสอดได้ คือ
– บิดามารดาของหญิง
– ผู้ปกครองของหญิง
ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายชายต้องรับผิดชอบ ชายสามารถเรียกสินสอดคืนได้ แต่ถ้าเหตุที่ไม่มีการสมรสนั้นเกิดจากความผิดของฝ่ายชายแล้ว ชายไม่มีสิทธิเรียกคืนสินสอดมีลักษณะแตกต่างจากของหมั้นที่ว่า ของหมั้นต้องมีการส่ง มอบให้แก่ฝ่ายหญิงในขณะที่ทำการหมั้น แต่สินสอดนั้นจะส่งมอบให้แก่บุคคล ที่มีสิทธิจะรับเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมทำการสมรสกับตน หากว่าได้ให้ทรัพย์สินเป็นเพียงเพื่อแก้หน้าบิดามารดาของ ฝ่ายหญิงที่ตนพาลูกสาวของเขาหนีแล้ว ทรัพย์สินนั้นไม่ใช่สินสอด แม้ต่อมาภายหลังไม่มีการสมรสชายจะเรียกคืนไม่ได้ เพราะสิ่งของที่ให้กันนั้นกฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสอด
คำพิพากษาฎีกาที่ 126/2518 เงินที่ชายให้แก่มารดาหญิงเพื่อ ขอขมาในการที่หญิงตามไปอยู่กินกับชาย โดยชายหญิงไม่มีเจตนาจะสมรสกัน ตามกฎหมาย ไม่ใช่สินสอดหรือของหมั้น เมื่อต่อมาหญิงไม่ยอมอยู่กินกับ ชาย ชายเรียกคืนไม่ได้
การผิดสัญญาหมั้น
ถ้าชายหรือหญิงคู่หมั้น ไม่ยอมทำการสมรสกับคู่หมั้นของตนโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ถือว่าคู่หมั้นฝ่ายนั้นผิดสัญญาหมั้น
เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น เช่นหญิงมีคู่หมั้นอยู่แล้วไปทำการสมรสกับชายอื่นที่ไม่ใช่คู่หมั้นของตน หรือหนีตามชายอื่นไป ชายคู่หมั้น จะฟ้องร้องต่อศาลให้ศาลบังคับให้หญิงทำการสมรสกับตนไม่ได้ เพราะการ สมรสนั้นต้องเกิดจากความสมัครใจ ศาลจะใช้อำนาจไปบังคับให้ชายและหญิง ทำการสมรสกันไม่ได้ แม้ว่าจะมีการตกลงกันว่าถ้าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา หมั้นจะให้ปรับเป็นจำนวนเท่าใด ข้อตกลงนั้นก็ใช้บังคับกันไม่ได้
แต่คู่หมั้นซึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทนดังต่อไปนี้
– ค่าทดแทนความเสียหายต่อกาย หรือชื่อเสียง
– ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากคู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะ เช่น บิดามารดาได้ใช้จ่าย หรือตกเป็นลูกหนี้ เนื่องจากการเตรียมการสมรสโดยสุจริต และตามสมควร เช่น ฝ่ายหญิงได้ซื้อ เครื่องนอน เครื่องครัวไว้แล้ว ชายไปแต่งงานกับหญิงอื่น ชายต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายเหล่านี้
– ค่าทดแทนความเสียหาย เนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการ ทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวกับอาชีพ หรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดย สมควรด้วยการคาดหมายว่าจะมีการสมรส
ตัวอย่าง
สำหรับค่าทดแทนที่ 3 นายแดงอยู่กรุงเทพฯ หมั้นกับนางสาวนุสรา ซึ่งมีอาชีพเป็นพยาบาลอยู่ต่างจังหวัด มีการกำหนดวันที่จะทำการสมรส นางสาวนุสราจึงลาออกจากพยาบาลเพื่อที่จะเป็นแม่บ้าน เมื่อนางสาวนุสราได้ลาออกจากการเป็นพยาบาลแล้ว นายแดงไม่ยอมทำการสมรสด้วย เนื่องจากได้ไปสมรสกับผู้หญิงอื่น เช่นนี้นายแดงต้องรับผิด ใช้ค่าทดแทนความเสียหาย อันเกิดจากการที่นางสาวนุสราลาออกจากงาน (สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนนี้ มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันผิดสัญญาหมั้น)
ในกรณีที่หญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น หญิงต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย ถ้าฝ่ายชายเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นแล้ว หญิงไม่ต้องคืนของหมั้น
บันทึกการเข้า

ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ปล่อยวางบ้าง
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: