การป้องกันโรคกระดูกพรุน "ด้วยอาหาร"
วันนี้เราพาคุณผู้รักสุขภาพมาทำการป้องกันโรคกระดูกพรุนด้วยอาหารกันค่ะ การป้องกันโรคกระดูกพรุนไม่ใช่เรื่องยากหากแต่ใส่ใจเรื่องการกินกันสักนิดเท่านั้น ถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบันจะมีการนิยมบริโภคแคลเซียมเม็ดกันซะมากเพื่อเป็น การป้องกันโรคกระดูกพรุน ด้วยอาหารในแต่ละมื้อที่ได้สารอาหารครบถ้วนและปลอดภัยแถมมีราคาที่ถูกกว่าและไม่สิ้นเปลืองอีกด้วย วันนี้เราเลยอยากจะแนะนำการป้องกันโรคกระดูกพรุน ด้วยอาหารค่ะ
น่ารู้! การป้องกันโรคกระดูกพรุน "ด้วยอาหาร"
แหล่งแคลเซียมในอาหาร ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม แคลเซียมจากนมถูกดูดซึมได้ดี ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่กล้าดื่มนมเพราะกลัวไขมันในเลือดสูงก็สามารถเลือกดื่มนมชนิดพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนยได้ เด็กและวัยรุ่นควรบริโภคนมวันละ 2-3 แก้ว ส่วนผู้ใหญ่วันละ 1-2 แก้ว จะได้รับแคลเซียมประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณแคลเซียมที่ต้องการ แล้วบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูงอื่น ๆ เสริมด้วย เช่น ปลา กุ้งแห้ง เต้าหู้ และผักใบเขียวที่อยู่ในตระกูลผักกาด เช่น ผักคะน้า ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง เป็นต้น
นอกจากนั้นยังสามารถดัดแปลงตำรับอาหารไทยที่มีปริมาณแคลเซียมสูง เช่น อาจเปลี่ยนแกงกะทิมาใช้นมแทนกะทิ อาหารบางตำรับ เช่น ผัดผักธรรมดา ๆ ก็อาจเติมปลาที่กินได้ทั้งกระดูกอย่างปลาป่น ปลาแห้ง ปลาไส้ตัน มื้อใดบริโภคแคลเซียมน้อย ในมื้อต่อไปก็ควรเลือกอาหารที่มีแคลเซียมสูงชดเชยได้
อย่างไรก็ตามอาหารพวกปลาป่น ปลาแห้งมักมีรสเค็มจัด ก็ไม่ควรบริโภคปริมาณมาก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคความดันเลือดสูงหรือโรคไต ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ เต้าฮวย เป็นแหล่งของแคลเซียมอีกแหล่งหนึ่งแต่ในน้ำเต้าหู้มีปริมาณแคลเซียมไม่มากนักเพราะกระบวนการทำน้ำเต้าหู้ไม่สามารถสกัดแคลเซียมออกจากถั่วเหลืองได้มากพอ อย่างไรก็ตามน้ำเต้าหู้ก็ยังมีโปรตีนที่เป็นประโยชน์ 
เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนในวัยชราเราจึงควรเสริมสร้างมวลกระดูกให้มากที่สุดในขณะเป็นเด็ก ด้วยการดูแลกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงพร้อมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ วัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโตหากได้รับแคลเซียมร่วมกับสารอาหารอย่างอื่นที่จำเป็นอย่างครบถ้วน เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรตอย่างเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย รวมทั้งการออกกำลังกายก็จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ร่างกายมีส่วนสูงเต็มศักยภาพทางพันธุกรรมของคน นั้น ๆ ด้วยขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากอินเตอร์เน็ต