“แซลมอน“ เปี่ยม “โอเมกา-3” ลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม
ทีมนักวิจัยจากจีนเผยแพร่ผลวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาวิจัยในระดับนานาชาติจำนวน 26 ชิ้น ว่าด้วยผลกระทบจากการกินเนื้อปลาที่มี "โอเมกา-3" ได้ผลสรุปว่า การได้โอเมกา-3 จากเนื้อปลาด้วยการกินนั้น ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมลง ทั้งนี้ จากรายงานผลการวิเคราะห์ดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ในวารสาร บริทิช เมดิคัล เจอร์นัล เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมาการศึกษาวิจัย 26 ชิ้น ที่นำมาทบทวนวิเคราะห์ใหม่ดังกล่าวนั้น รวมกลุ่มตัวอย่างแล้วเป็นผู้หญิงเกือบ 900,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว 20,000 คนอีกด้วย โดยผลการวิเคราะห์งานวิจัยดังกล่าวพบว่า ผู้หญิงซึ่งบริโภคไขมัน โอเมกา-3 จากเนื้อปลาในระดับสูงสุด มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมลดลง 14 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคในระดับที่ต่ำที่สุด นอกจากนั้นผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่าง "ปริมาณ" ของโอเมกา-3 ที่กินเข้าไปกับการตอบสนองจากร่างกายของผู้บริโภคคือ การกินโอเมกา-3 เข้าไปทุกๆ 0.1 กรัมต่อวัน จะทำให้โอกาสที่จะเกิดมะเร็งเต้านมลดลง 5 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ โอเมกา-3 คือไขมันชนิดไม่อิ่มตัวชนิดหนึ่งพบในเนื้อปลาหลายชนิดรวมทั้งเนื้อปลาแซลมอน โดยในเนื้อปลาแซลมอนขนาดที่เสิร์ฟกันทั่้วไป 1 ชิ้น จะมีโอเมกา-3 มากถึง 4 กรัม ในการรีวิวผลการศึกษาเมื่อปี 2002 ผู้ทำวิจัยยังพบว่าผู้หญิงที่มีโอกาสจะลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมนั้น ต้องบริโภคโอเมกา-3 และ โอเมกา-6 (ไขมันชนิดไม่ดีต่อสุขภาพ) ในปริมาณที่สมดุลกันเท่ากัน ในผลการวิเคราะห์ใหม่ครั้งนี้ ผู้วิจัยศึกษาทั้งผลการศึกษาวิจัยซึ่งใช้การวัดการบริโภคโอเมกา-3 ที่แตกต่างกัน 2 รูปแบบ คือ วัดด้วยการตรวจเลือด และวัดด้วยการประเมินปริมาณปลาที่บริโภคเข้าไป ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2556
ขอขอบคุณภาพจาก : อินเตอร์เน็ต