ในยุคข้าวยากหมากแพง ทุกคนต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด เพื่อประคับประครองให้อยู่รอด บางคนหาทางออกไม่ได้ จำต้องทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิต อย่างที่เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง หนทางที่ถูกต้องควรมีสติ หรือไม่ก็ควรหาเวลาเข้าวัดฟังธรรม ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ก็พอจะทำให้จิตใจสงบได้บ้าง
วันนี้จะพาไปท่องเที่ยวจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งแยกตัวมาจาก จ.อุบลราชธานี เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เป็นจังหวัดอันดับที่ 75 ของประเทศ นั่นคือ จ.อำนาจเจริญ แม้จะเป็นจังหวัดขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 3 แสนคนเศษ ทว่าก็มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลาแห่ง เช่น พุทธอุยาน ประดิษฐานพระมงคลมิ่งเมือง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียงเคารพและศรัทธามาก ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองอำนาจเจริญทางทิศใต้ราวๆ 3 กิโลเมตร ซึ่งบริเวณโดยรอบจะปกคลุมไปด้วยต้นไม้นานาชนิด สงบร่มรื่น เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและประกอบพิธีทางศาสนาในวันสำคัญๆ ของชาวอำนาจเจริญ
และก่อนถึงถ้ำแสงเพชร ก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่ง ผู้คนไม่ค่อยรู้จักมากนัก ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองอำนาจเจริญประมาณ 25 กิโลเมตร ไปตามถนนอรุณประเสริฐ (ถนนสายหลัก) ทางทิศตะวันออก เมื่อถึงบ้านดอนหวายให้เลี้ยวซ้าย เข้าถนนสองรอง ดอนหวาย-ชานุมาน เลยบ้านนาอุดมราวๆ 3 กิโลเมตร ก็จะเห็นเจดีย์หินพันล้านก้อนตั้งตระหง่านอยู่บนภูเขาพนมดี เป็นจุดเด่น สะดุดตานักท่องเที่ยวยิ่งนัก
จากป้ายบอกทางเข้าภูพนมดีสู่ถนนลูกรังคับแคบรถยนต์สวนกันไม่ได้ ขับลัดเลาะไร่ยางพารา ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ที่ปลูกอยู่ 2 ข้างทางไปเรื่อยๆ ระยะทาง 3 กิโลเมตร ไต่เขาขึ้นไปอย่างช้าๆ ระหว่างขับรถขึ้นเขา ก็จะมองเห็นกุฏิสงฆ์ตั้งอยู่ในซอกหินเป็นระยะๆ จนถึงยอดเขาพนมดี แม้ทางขึ้นจะเป็นลูกรัง มีทางน้ำเซาะผ่านเป็นช่วงๆ ก็ตาม ถือว่าทางยังขึ้นสะดวกสบาย ไม่ถึงกับทุลักทุเลมากนัก
เมื่อยืนอยู่บนภูเขาพนมดี สายลมพักผ่านกระทบร่างเป็นระยะๆ แบบเย็นสบาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ภูพนมดิน บ้านนาอุดม ต.หนองไฮ อ.เสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญ มีพระสงฆ์อยู่จำนวน 6 รูป พระครูธรรมชาติ อตโร เป็นเจ้าอาวาส กุฏิ 6 หลังตั้งอยู่ตามถ้ำหรือซอกหิน ศาลาการเปรียญแบบเพิงสังกะสี 1 เพิง ตั้งอยู่บนลานหิน ท่ามกลางแมกไม้นานาพันธุ์ผลิดอกออกใบอย่างสวยงาม ขึ้นเขียวขจีในช่วงฤดูฝน และสงบร่มรื่นมาก
พระโรจน์ กตธรรมโม อายุ 42 ปี พระเลขานุการเจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ภูพนมดี บอกว่า พระครูธรรมชาติ อตโร เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ภูพนมดีไม่อยู่ มีกิจนิมนต์ที่ จ.ศรีสะเกษ ได้รับมอบหมายให้ดูแลแทน ซึ่งอาตมามาอยู่ได้ 7 เดือน ซึ่งมาจาก จ.กาฬสินธุ์ ก็จะจำพรรษาที่นี่
พระโรจน์ กล่าวว่า ภูพนมดีอยู่ในแนวเทือกเขาภูพาน เดิมมีชื่อเรียกว่าภูแม่หม้าย เนื่องจากบริเวณภูเขาแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่จำนวนมาก จึงเป็นแหล่งอาหาร ชาวบ้านมักจะเข้ามาล่าสัตว์ไปทำอาหารและตัดต้นไม้ ทำบ้านเรือนเป็นประจำ โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัวที่เข้ามาล่าสัตว์และตัดต้นไม้จะเกิดอาถรรพ์ ทำให้ล้มป่วยเสียชีวิต ภรรยาขาดสามี ทำให้เป็นม่ายทั้งหมู่บ้าน จึงถูกเรียกว่าภูแม่หม้าย เชื่อว่าเจ้าป่า เจ้าเขา ที่ปกป้องผืนป่าแห่งนี้แสดงอิทธิฤทธิ์ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปตัดไม้ทำลายป่ากระทั่งปัจจุบัน ส่วนจะหาของป่าหรือสัตว์ป่าไปทำอาหารต้องขอท่านเสียก่อน
ต่อมา มีพระกรรมฐานผ่านมาและได้ปักกลดปฏิบัติธรรม เมื่อทราบเรื่องที่เกิดขึ้นจึงเปลี่ยนชื่อจากภูแม่หม้าย เป็นภูพนมดี เพื่อเป็นสิริมงคล แต่ทางราชการเรียกว่าภูผาดี ซึ่งพื้นที่โดยรอบของภูพนมดีประกอบด้วย 1. ผาดี หน้าผาชมธรรมชาติ 2.หนองหมาจอก 3.ผากล้วยไม้ 4.ป้อมฝรั่งเศส 5.ถ้ำเกีย (ค้างคาว) 6.ถ้ำปู่อังคฮาด 7.ถ้ำแสงแก้ว 8.เจดีย์หินพันล้านก้อน 9.เรือสำเภาราชสีห์ 10.พระศรีรัตนตรัยรัตน์
กระทั่งปี พ.ศ.2529 คณะสงฆ์และชาวบ้าน ต.หนองไฮ ร่วมกันดำเนินการก่อสร้าง พระพุทธรูปปางมารวิชัย สีขาวทั้งองค์ บนหน้าผา ชื่อว่าพระศรีรัตนตรัยรัตน์ และสร้างบันได 245 ขั้น เพื่อเป็นทางขึ้นลงของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน
สำหรับประวัติการก่อสร้างเจดีย์หินพันล้านก้อน พระโรจน์ เล่าว่า ในช่วงวันเพ็ญ 15 ค่ำ ชาว ต.หนองไฮ ห่างจากภูพนมดีประมาณ 5 กิโลเมตร มักจะเห็นปรากฏการณ์ประหลาดเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งชาวบ้านจะพบเห็นลำแสงสีเขียวพาดผ่านถ้ำปู่อัคฮาดไปยังถ้ำแสงแก้ว และเชื่อว่าปู่อัคฮาดแสดงปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นผู้ปกป้องรักษาบริเวณพื้นป่าและเทือกเขาแห่งนี้ให้อุดมสมบูรณ์ ไม่ให้ตัดไม้ทำลายป่า
ต่อมา พ.ศ.2530 พระอาจารย์ปัญญา จากวัดสุปัฏวนารามวรวิหาร จ.อุบลราชธานี ได้มาปฏิบัติธรรม ร่วมกับพระอาจารย์เพียว พระอาจารย์โจ ระหว่างวิปัสสนากรรมฐาน พระอาจารย์ปัญญานิมิตอัศจรรย์ขึ้น ซึ่งเหล่าเทวดา ต้องการให้สร้างสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงนำเรื่องไปปรึกษาญาติโยม จึงให้สร้างสิ่งมงคลสำหรับกราบไหว้บูชา และควรสร้างเจดีย์เพื่อความเป็นสิริมงคล สำหรับพุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจด้วย
ต่อมา ปี พ.ศ.2542 พระอาจารย์ปัญญาเจ้าอาวาสองค์แรก ร่วมกันชาวบ้านก่อสร้างเจดีย์ ทำจากหินภูเขาสีขาว ที่ชาวบ้านคัดแยกขนาดตามต้องการ ติดกับโครงสร้างรูปร่างเจดีย์ นับพัน นับล้านก้อน กลายเป็นรูปร่างเจดีย์หินพันล้านก้อน อย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ไปตามถนนอรุณประเสริฐ ทางทิศตะวันออกของจังหวัดอำนาจเจริญ ประมาณ 15 กิโลเมตร ก็คือแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของจังหวัดอำนาจเจริญ ชื่อว่าถ้ำแสงเพชร ณ ยอดภูเขาขาม เป็นที่ตั้งของเจดีย์ที่คล้ายกับเจดีย์นครปฐม ภายในเจดีย์จะมีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ชา ซึ่งสมัยก่อนหลวงปู่ชาเคยมาจำพรรษาอยู่ที่นี่ ถัดไปก็จะเป็นมหาวิหารหรือ ศาลาพันห้อง ซึ่งด้านล่างวิหารทำเป็นที่เก็บน้ำฝนให้พระสงฆ์ได้อุปโภคและบริโภคในช่วงฤดูแล้ง ส่วนเบื้องหน้ามหาวิหารก็จะเป็นที่ประดิษฐานพระนอนขนาดยาว 22 เมตร หากเดินจากยอดเขาลงไปถ้ำแสงเพชร ระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตร ก็จะพบเห็นถ้ำแสงเพชรและถ้ำโคนอน รวมถึงถ้ำพระ ถ้ำค้างคาว ให้ได้สัมผัสอย่างตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะระหว่างเดินเท้าลงจากยอดเขา จะได้สัมผัสธรรมชาติที่สวยงาม มีเสียงจักจั่น นกนานาชนิด ส่งเสียงขับกล่อมบรรเลงเพลงตลอดทาง ทำให้จิตใจสดชื่นดีมาก
สำหรับเรือสำเภาราชสีห์ อยู่ห่างจากเจดีย์ ประมาณ 20 เมตร เดิมสร้างเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการก่อสร้างเจดีย์ มีลักษณะเป็นรูปเรือสำเภา หัวเป็นราชสีห์ กลางเรือมีภาพแกะสลักรูปพระนอนทอดยาวไปตามเรือสำเภาอย่างสวยงาม ซึ่งเรือสำเภาราชสีห์สร้างเสร็จ เมื่อปี 2547 ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี
ในช่วงฤดูหนาวเดือนธันวาคม ชาวบ้านนาอุดม ต.หนองไฮ อ.เสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญ จะจัดงานบุญข้าวจี่ขึ้น สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเวลานับ 100 ปี ด้วยการปิ้งข้าวจี่ถวายพระสงฆ์ เพื่อเป็นสิริมงคลและได้กุศลแรง
ด้านนายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผวจ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า ได้ขึ้นไปดูเจดีย์หินพันล้านก้อน 2 ครั้งแล้ว นับว่าเป็นสิ่งที่แปลก แทนที่จะก่อสร้างธรรมดา แต่นำหินมาก่อเรียงกันสลับสีอย่างสวยงาม ซึ่งเป็นที่ปฏิบัติธรรมและสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจะได้บรรจุชื่อลงในหนังสือการท่องเที่ยวของ จ.อำนาจเจริญ เป็นที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่ง และสั่งให้ อบต.หนองไฮนำป้ายอันใหญ่ไปติดตั้งบอกทางเข้าให้เห็นเด่นชัดกว่านี้ ส่วนถนนลูกรังขึ้นลงค่อนข้างลำบาก ก็จะจัดหางบประมาณไปปรับปรุงถนนให้ดี รถวิ่งขึ้นลงสะดวกสบายยิ่งขึ้น…
เครดิต... สนธยา ทิพย์อุตร/อำนาจเจริญ banmuang.co.th