-/> รถหาย รถถูกยักยอก ไม่ต้องมีใบมอบอำนาจจากไฟแนนซ์

You are here: Khonphutorn.com - แหล่งข้อมูลของคนไทยหมวดอาชีพรู้กฎหมาย คลายปัญหา (ผู้ดูแล: พรหมพิพัฒน์)รถหาย รถถูกยักยอก ไม่ต้องมีใบมอบอำนาจจากไฟแนนซ์
หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: รถหาย รถถูกยักยอก ไม่ต้องมีใบมอบอำนาจจากไฟแนนซ์  (อ่าน 1921 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ดูแลเรื่องกฏหมายของเว็บ
คะแนนน้ำใจ 1010
กระทู้: 130
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« เมื่อ: 22 กันยายน 2560, 05:20:06 PM »

Permalink: รถหาย รถถูกยักยอก ไม่ต้องมีใบมอบอำนาจจากไฟแนนซ์
#รถหาย รถถูกยักยอก ไม่ต้องมีใบมอบอำนาจจากไฟแนนซ์ ผู้เช่าซื้อแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจได้เล๊ย!!#
การซื้อรถต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ดังนั้นเมื่อเงินไม่พอก็ต้องใช้วิธีการเช่าซื้อรถกับไฟแนนซ์ เมื่อได้รถแล้วก็ต้องผ่อนชำระค่าเช่าซื้อกันเป็นงวดๆ แต่สำหรับผู้เช่าซื้อบางคนโชคไม่ดี รถที่เช่าซื้อหายหรือถูกยักยอกไป แต่พอไปแจ้งความร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่หลายๆท่าน บอกว่าต้องได้ใบมอบอำนาจมาจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ถึงจะแจ้งความได้ อ้าว!! เป็นงั้นไป!!
ดังนั้น แฟนเพจทนายเพื่อนคุณ จะมาชี้แจงแถลงไขเรื่องนี้กันสักที ว่าจริงๆแล้ว ผู้เช่าซื้อเป็นผู้เสียหายหรือไม่ อย่างไร สามารถแจ้งความได้เลยหรือไม่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2(4) "ผู้เสียหาย" หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจ จัดการแทนได้ตามบัญญัติไว้ในมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6
ฎีกา 8980/2555
แม้โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถ แต่ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องส่งคืน เมื่อมีผู้ยักยอกรถนั้นไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ไม่ว่าผู้ลงชื่อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อในหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จะเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อหรือเป็นเจ้าของรถที่แท้จริงหรือไม่ และหนังสือมอบอำนาจมีข้อความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่มีผลลบล้างการที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย แม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำบันทึกและหลักฐานการรับคำร้องทุกข์มานำสืบ แต่จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จริง กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์โดยชอบ พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ฎีกา 7960/2551
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เสียหายซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายแจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบแล้วว่าจะทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเป็นจำเลย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ขายดาวน์รถยนต์แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรง โดยผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อีกทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อ จึงเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้
สรุปเมื่อรถหายหรือถูกคนอื่นยักยอกรถไป ผู้เช่าซื้อมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์รถที่เช่าซื้อรวมทั้งมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อเมื่อมีเหตุต้องคืนรถตามสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้นถ้ารถหายหรือถูกยักยอกไป ผู้เช่าซื้อถือว่าเป็นผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้เลย โดยไม่จำต้องมีใบมอบอำนาจจากทางไฟแนนซ์ครับ
บันทึกการเข้า

ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ปล่อยวางบ้าง
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: