-/> ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก

หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก  (อ่าน 1718 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ผู้บริหารเว็บ
คะแนนน้ำใจ 65535
เหรียญรางวัล:
PJ ดีเด่นนักอ่านยอดเยี่ยมผู้ดูแลเว็บ
กระทู้: 18,132
ออฟไลน์ ออฟไลน์
"สาวหวาน กับ ความฝันไม่รู้จบ "
   
« เมื่อ: 20 กันยายน 2560, 09:53:24 AM »

Permalink: ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก
ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก (Neonatal hyperbilirubinemia/Neonatal jaundice)
 พบบ่อยและเป็นปัญหาสำคัญ ต้องให้การวินิจฉัยและรักษาในเวลาที่เหมาะสม
 หากวินิจฉัยไม่ได้หรือมาพบแพทย์เมื่อพ้นระยะเวลาที่จะรักษาได้ผลดี ย่อมทำให้ผู้ป่วยมีอาการมาก
หรือสูญเสียหน้าที่ของอวัยวะบางอวัยวะจนไม่สามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้
ในเด็กคลอดครบกำหนดพบภาวะตัวเหลืองได้ประมาณ 25 - 50% และพบมากขึ้นในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด
แต่ส่วนใหญ่เป็นภาวะตัวเหลืองที่เกิดตามปกติ

อาการตัวเหลืองเกิดได้อย่างไร?
อาการตัวเหลืองเกิดจากการมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) จำนวนมากกว่าปกติคั่งอยู่ในอวัยวะต่างๆ
ทำให้เห็นว่ามีผิวหนังทั่วตัวและตาขาวเป็นสีเหลือง

มีกลไกการเกิดและการกำจัดสารสีเหลืองบิลิรูบินอย่างไร?
สารสีเหลือง/บิลิรูบินนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเม็ดเลือดแดงแตกได้สารที่เรียกว่า บิลิเวอร์ดิน (Biliverdin)
ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นสารชื่อบิลิรูบินอยู่ในกระแสเลือด โดยปกติสารนี้จะถูกนำ เข้าไปสู่ตับ มีการเปลี่ยนแปลงที่เซลล์ของตับ
เปลี่ยนจากสารที่ละลายน้ำไม่ได้ (แต่ละลายได้ในไขมัน) เป็นสารที่ละลายน้ำได้ แล้วขับออกจากร่างกายผ่านไปในทางเดินน้ำดี เข้าสู่ลำไส้
และขับออกทางอุจจาระ ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยถูกดูดซึมจากลำไส้กลับเข้าสู่กระแสเลือด และขับออกทางปัสสาวะ
สารสีเหลืองบิลิรูบินเป็นสารที่เกิดตามปกติหรือไม่?
สารสีเหลือง/บิลิรูบินนี้โดยภาวะปกติก็เกิดอยู่แล้ว เพราะเม็ดเลือดแดงมีการแตกตัวตามอายุขัยของมัน คนปกติเม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 120 วัน
แต่ในเด็กแรกเกิดเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าผู้ใหญ่คืออายุประมาณ 80 - 90 วัน และเด็กแรกเกิดมีปริมาณเม็ดเลือดแดงมากกว่าผู้ใหญ่
เด็กแรกเกิดปกติจะมีการสร้างบิลิรูบินวันละประมาณ 6 - 10 มิลลิกรัม (มก.)/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม (กก.)
 แต่ผู้ใหญ่จะมีการสร้างบิลิรูบินวันละ 3 - 4 มก./ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. อีกทั้งตับของเด็กแรกเกิดยังทำงานไม่สมบูรณ์
 ทำให้พบภาวะตัวเหลืองได้บ่อยในเด็กแรกเกิด (ขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์ สารสีเหลืองจะผ่านรกเข้าสู่กระแสเลือดของแม่และขับออกทางตับของแม่)
เด็กตัวเหลืองมีสาเหตุจากอะไร?
เมื่อทราบกระบวนการที่ทำให้เกิดสารสีเหลือง/บิลิรูบิน และระบบการขับถ่ายสารนี้ออกจากร่างกายแล้ว จึงไม่ยากที่จะนึกถึงสาเหตุของภาวะตัวเหลืองซึ่งได้แก่
มีสารบิลิรูบินสร้างมากขึ้นกว่าปกติ
นอกจากนี้การมีเลือดออกในเด็กแรกเกิดและคั่งอยู่ในที่ใดที่หนึ่งจำนวนมาก เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกก็จะได้สารบิลิรูบินมาก
การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียตั้งแต่ในครรภ์เช่น ติดเชื้อหัดเยอรมัน ซิฟิลิส หรือเชื้อซีเอ็มวี (CMV, Cytomegalovirus) เป็นต้น
การติดเชื้อในกระแสเลือดหลังคลอดเช่น เชื้อแบคทีเรียและเชื้ออื่นๆก็ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้
เม็ดเลือดแดงผิดปกติแต่กำเนิด ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ไม่ว่าจะเกิดจากรูปร่างเม็ดเลือดแดงผิดปกติ
การมีส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ทั้งความผิดปกติของการสร้างสารสีแดงที่เรียกว่าฮีโมโกลบิน (Hemoglobin)
 ในโรคธาลัสซีเมีย (มักเกิดจากกลุ่มที่เป็น ธาลัสซีเมียชนิดอัลฟา) หรือจากการที่มีเอนไซม์ (Enzyme)
 ที่จำเป็นสำหรับความแข็งแรงของเม็ดเลือดแดงผิดปกติเช่น ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) ล้วนทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย

เด็กที่มีภาวะขาดออกซิเจน เด็กที่มีแม่เป็นโรคเบาหวาน เด็กที่เกิดก่อนกำหนด และเด็กที่มีภาวะหายใจลำบาก ทำให้สร้างบิลิรูบินมากกว่าปกติ
โดยมีสาเหตุได้หลายอย่างทั้งสาเหตุจากมารดาและ ตัวเด็กเองเช่น มีการแตกของเม็ดเลือดแดงของลูกเนื่องจากหมู่เลือดของแม่และของลูกไม่ตรงกัน
 จึงมีสารที่เป็นภูมิต้านทาน (แอนติบอดี/Antibody) จากแม่มาสู่ลูกโดยผ่านทางรก สารดังกล่าวจะไปจับที่ผนังของเม็ดเลือดแดงของลูก
ซึ่งร่างกายลูกมีกระบวนการกำจัดเม็ดเลือดแดงเหล่านี้จึงทำให้เม็ดเลือดแดงของลูกแตก
เด็กที่มีภาวะขาดออกซิเจน เด็กที่มีแม่เป็นโรคเบาหวาน เด็กที่เกิดก่อนกำหนด และเด็กที่มีภาวะหายใจลำบาก ทำให้สร้างบิลิรูบินมากกว่าปกติ

เมื่อไปที่ตับจะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารบิลิรูบินจากที่ไม่ละลายน้ำไปเป็นสารที่ละลายน้ำและขับออกจากร่างกายได้
หากเอนไซม์นี้ผิดปกติ หรือหากมียาหรือสารชนิดอื่นมาแย่งจับหรือขัดขวางการทำงานเอนไซม์นี้จะทำให้สารบิลิรูบินไม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นสารที่จะขับออกได้
 จึงมีสารบิลิรูบินคั่งอยู่ในเลือด/ในร่างกายมาก
สารบิลิรูบินจะไปที่เซลล์ตับโดยมีโปรตีน (อัลบูมิน/Albumin หรือไข่ขาว) ในเลือดเป็นตัวนำไป หากโปรตีนต่ำมากๆจะขาดตัวนำสารนี้ไปที่ตับ
กระบวนการขับถ่ายออก

ดังนั้นหากมีการอุดตันของท่อน้ำดีโดยสาเหตุที่เกิดจากกายวิภาคคือ ท่อน้ำดีตีบตัน (Biliary atresia) หรือเกิดจากเซลล์ตับอักเสบและบวมมาก
 จนท่อน้ำดีถูกเบียดหรือมีสารบิลิรูบินเข้มข้นอยู่จำนวนมากเหมือนโคลนไปทับถม ทำให้สารบิลิรูบินที่สร้างมาใหม่ๆไหลออกมาไม่ได้
 ล้วนมีผลทำให้เกิดอาการตัวเหลืองได้ และแม้แต่การมีลำไส้อุดตันหรือภาวะที่ลำไส้ขยับตัวเคลื่อนไหวน้อยในเด็กแรกเกิดที่ยังรับนมแม่ได้น้อย
เนื่องจากแม่มีน้ำนมไม่เพียงพอในช่วง แรกๆ (Breastfeeding jaundice) จึงส่งผลทำให้มีการคั่งของน้ำดี ทำให้น้ำดีถูกดูดซึมเข้ากระ
แสเลือดมากขึ้นจึงเกิดตัวเหลืองได้

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของบิลิรูบินจากที่ไม่ละ ลายน้ำมาเป็นสารที่ละลายน้ำได้น้อยกว่าปกติ
จึงขับถ่ายบิลิรูบินได้น้อยกว่าปกติ
คือเมื่อสารบิลิรูบินถูกเปลี่ยนแปลงที่เซลล์ของตับแล้ว จะถูกนำออกจากตับโดยผ่านทางท่อน้ำดีแล้วไปออกสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น
 จากนั้นขับออกทางอุจจาระ ท่อน้ำดีในตับเปรียบเหมือนคลองเล็กคลองน้อยที่จะนำน้ำดีออกสู่แม่น้ำใหญ่คือลำไส้
แพทย์รู้ได้อย่างไรว่าเด็กตัวเหลือง?
ในเด็กแรกเกิดแพทย์ต้องให้อยู่โรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการตัวเหลืองสัก 2 - 3 วัน ส่วน
ใหญ่แพทย์จะมองเห็นว่าเด็กตัวเหลือง อาการตัวเหลืองจะเริ่มเห็นจากใบหน้าเด็กก่อนแล้วไปที่ตัว ขา และเท้า
แต่จะบอกละเอียดไม่ได้ว่าเหลืองเท่าใด แพทย์จึงต้องเจาะเลือดไปตรวจดูระดับความเหลือง
และหากเด็กตัวเหลืองถึงระดับหนึ่งแพทย์อาจต้องเจาะเลือดติดตามระดับสารสีเหลือง/บิลิรูบินอยู่บ่อยๆเพื่อป้องกันไม่ให้สารบิลิรูบินนี้มีมากเกินไปจนเกิดอันตราย
ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเข้าใจว่าการเจาะเลือดตรวจเป็นสิ่งจำเป็น เพราะพ่อแม่ส่วนมากจะไม่ อยากให้ลูกถูกเจาะเลือด สงสารกลัวลูกเจ็บ

สารสีเหลืองบิลิรูบินมีมากเกินไป เกิดผลเสียอย่างไร?
สารสีเหลือง/บิลิรูบินถ้ามากเกินไปโดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายในไขมัน (Unconjugated bilirubin)
หากมากเกินกว่าที่อัลบูมินในเลือดจะจับไว้ได้หมด ส่วนที่เหลือจะผ่านเข้าไปสู่สมอง ไปจับที่เนื้อสมองทำให้สมองผิดปกติเรียกว่า
 เคอร์นิกเทอรัส (Kernicterus) ในระยะต้นเด็กจะมีอาการเกร็ง ซึม ดูดนมไม่ดี อาเจียน ร้องเสียงแหลม
 หลังจากนั้นมีการเกร็งมากขึ้น ชักหลังแอ่น มีไข้ ตาเหลือกขึ้นข้างบน เด็กหลายรายจะเสียชีวิตในระยะนี้
หากเด็กรอดชีวิตผ่านระยะนี้ไปจะไปสู่ระยะท้ายคือหลังแอ่นชัดเจน ความตึงหรือเกร็งของกล้ามเนื้อลดลง หยุดหายใจ หมดสติ
หรือเสียชีวิต หากไม่เสียชีวิตจะเกิดความพิการถาวรเช่น ชัก เกร็ง การเคลื่อนไหวผิดปกติ หูหนวก ปัญญาอ่อน และมีพัฒนาการช้า

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุเด็กตัวเหลืองอย่างไร?
เมื่อพบว่าเด็กแรกเกิดตัวเหลือง
แพทย์จะแยกจากภาวะตัวเหลืองที่เกิดจากภาวะปกติของ เด็กเสียก่อน (Physiologic jaundice)
 ซึ่งภาวะนี้เกิดจากมีการแตกของเม็ดเลือดแดงในเด็กเร็วกว่าในผู้ใหญ่ และตับของเด็กแรกเกิดยังทำงานได้ไม่เต็มที่
 ซึ่งอาการตัวเหลืองดังกล่าวจะมีระดับสารสีเหลือง/บิลิรูบินไม่สูงมาก มักเกิดหลังวันแรกของชีวิต
ส่วนใหญ่เกิดวันที่ 2 - 3 และสารบิลิรูบินในเลือดจะไม่สูงขึ้นเร็ว กล่าวคืออาการเหลืองจะไม่มาก เด็กจะไม่ซึม
และไม่มีอาการอื่นๆเช่น ภาวะติดเชื้อ โดยทั่วไปภาวะเหลืองปกติจะหายไปภายใน 7 วันหรืออย่างมากไม่เกิน 10 วัน
ในเด็กคลอดครบกำหนด แต่เด็กคลอดก่อนกำหนดอาการตัวเหลืองจะหายไปภายใน 2 สัปดาห์

อาการตัวเหลืองที่ไม่ปกติคือ เหลืองภายในวันแรกของชีวิตและเหลืองขึ้นรวดเร็ว เด็กมีอาการซึม
 หรือปริมาณสารสีเหลือง/บิลิรูบินในเลือดสูงเกินจากระดับปกติ ซึ่งแพทย์จะต้องหาสาเหตุ
 แพทย์มักจะมีแนวทางการค้นหาสาเหตุตามระยะเวลาที่เกิดอาการเหลือง ซึ่งแพทย์จะแบ่งว่าตัวเหลืองเร็วคือภายใน 7 วัน
 กับตัวเหลืองหลัง 7 วัน
ตัวเหลืองภายใน 7 วัน ยังแบ่งเป็นเกิดอาการเหลืองในวันแรกกับเกิดอาการเหลืองวันที่ 2 ถึงวันที่ 7
โดยแพทย์มีแนวทางในการหาสาเหตุต่างๆดังได้กล่าวไว้ตอนต้นเช่น แพทย์จะตรวจหมู่เลือดของแม่และลูก
ตรวจการทำงานของตับเพื่อเป็นแนวทางว่ามีการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดีหรือไม่ ตรวจหาว่ามีภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี
หรือมีการติดเชื้อไวรัสหลายชนิดตั้งแต่ก่อนคลอดหรือหลังคลอด หรือหลักฐานการติดเชื้ออื่นๆหลังคลอด
หรืออาการตัวเหลืองเกี่ยวข้องกับนมแม่ คือ ช่วงเด็กแรกเกิดเกิดจากนมแม่ไม่พอ (Breast feeding jaundice)

 หรือช่วงหลังซึ่งหลังเด็กอายุตั้งแต่ 1 สัปดาห์ขึ้นไปจะเกิดจากตัวนมแม่เอง (Breast milk jaundice, อ่านเพิ่มเติมในหัว ข้อของเรื่องนี้)
หากเหลืองหลังอายุ 7 วันไปแล้ว แพทย์จะดูว่ามีตับอักเสบจากเชื้อไวรัส หรือมีท่อน้ำดีตีบตัน หรือจากมีถุงน้ำในท่อน้ำดี (Choledochal cyst)
 ไปทำให้มีการอุดตันของทางเดินน้ำดีหรือไม่ ซึ่งอาจต้องเอกซเรย์ตามข้อบ่งชี้ หรือบางภาวะที่แพทย์ดูจากการวินิจฉัยอย่างอื่นแล้วแยกไม่ได้
ว่ามีสาเหตุจากอะไร จำเป็นที่แพทย์ต้องผ่าตัดเข้าไปเพื่อฉีดสีและเอกซเรย์ว่าท่อน้ำ ดีตีบตันหรือไม่ ถ้ามีการตีบตันของท่อน้ำดี
 ต้องผ่าตัดทำทางระบายให้น้ำดีขับออกไปทางลำไส้ได้ จะได้ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อตับ
แพทย์รักษาเด็กตัวเหลืองอย่างไร?
แนวทางการรักษาเด็กตัวเหลืองคือ

แพทย์จะระวังไม่ให้ระดับของสารสีเหลือง/บิลิรูบินสูงมากเกินขนาดซึ่งจะไปทำอันตราย ต่อเนื้อสมอง
โดยแพทย์อาจจะส่องไฟรักษาเพื่อลดระดับสารสีเหลือง แต่หากไม่ได้ผลจะต้องเปลี่ยนถ่ายเลือดเพื่อกำจัดสารสีเหลืองออกไปให้มากที่สุดในเวลารวดเร็ว
แพทย์จะรักษาตามสาเหตุซึ่งบางสาเหตุรักษาไม่ได้ ได้แต่ป้องกัน ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำ ให้เกิดอาการมากขึ้นเช่น
 ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากยาหรือจากสารเคมีก็ควรหลีกเลี่ยง หาก เกิดจากการตีบตันของท่อทางเดินน้ำดีต้องรีบแก้ไขโดยการผ่าตัดในเวลาที่เหมาะสม

การส่องไฟรักษาทำอย่างไร? และช่วยรักษาได้อย่างไร?
เมื่อเด็กตัวเหลืองถึงเกณฑ์ที่ต้องส่องไฟรักษา แพทย์จะใช้แสงไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent lamp)
ชนิดพิเศษ (Special blue light) ส่องไปที่ตัวเด็ก ซึ่งจะใช้จำนวนหลอดไฟและระยะห่างจากตัวเด็กตามมาตรฐาน
โดยถอดเสื้อผ้าเด็กและปิดตาเด็กไว้เพื่อป้อง กันภาวะแทรกซ้อนที่ตา แสงสีฟ้าที่ใช้มีความยาวคลื่นประมาณ 425 - 475 นาโนเมตร
 จะถูกดูดซึมโดยบิลิรูบินและจะช่วยเปลี่ยนบิลิรูบินให้เป็นชนิดที่ละลายน้ำ และถูกขับออกจากร่างกายผ่าน ทางน้ำดีออกทางอุจจาระ
 และผ่านไตออกทางปัสสาวะ

การส่องไฟรักษาเด็กตัวเหลืองมีอันตรายหรือไม่?
การส่องไฟรักษาเด็กตัวเหลืองเป็นวิธีการทำกันมานานแล้วและปลอดภัย ช่วยลดการที่จะ ต้องเปลี่ยนถ่ายเลือดได้มาก อาการข้างเคียงจากการส่องไฟมีดังนี้
เด็กอาจมีอุณหภูมิกายสูงขึ้น ดังนั้นต้องให้นมหรือให้น้ำเด็กให้เพียงพอ
อาจมีผื่นขึ้นตามตัวได้บ้าง
อาจมีอุจจาระเหลว
ในเด็กที่มีสารไดเร็คบิลิรูบิน (Direct bilirubin, บิลิรูบินชนิดละลายน้ำได้) สูงอาจทำให้ผิวของเด็กดูเขียวๆเหลืองๆเป็นมันเรียกว่า
บรอนซ์เบบี้ (Bronze baby) แต่ไม่อันตราย

การเปลี่ยนถ่ายเลือดทำอย่างไร? มีอันตรายหรือไม่?
การเปลี่ยนถ่ายเลือดเป็นวิธีการรักษาที่จะช่วยนำสารที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ที่อยู่ในกระแสเลือดออกไปได้เร็ว
หลักการคือ เอาเลือดของคนปกติที่ผ่านการตรวจสอบหมู่เลือดและการติดเชื้อในเลือดตามวิธีมาตรฐานสากล
 แล้วนำเลือดในจำนวนมากกว่าเลือดเด็กอีกหนึ่งเท่า ตัว (คำนวณว่าเด็กมีปริมาณเลือดเท่าใดแล้วคูณด้วยสอง)
 แล้วจึงค่อยๆดูดเลือดเด็กออก ใส่เลือดใหม่เข้าไปสลับกัน โดยการเปลี่ยนถ่ายเลือดต้องทำในห้องที่ปลอดเชื้อ
 มีการตรวจสอบสัญญาณชีพของเด็กโดยตลอด มีการทดแทนสารน้ำและเกลือแร่ในเลือดเช่น แคลเซียมที่อาจต่ำลงจากการเปลี่ยนถ่ายเลือด
 ดังนั้นโอกาสติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนจากกระบวนการทำจะมีน้อยมากเมื่อเทียบกับผลดีจากการรักษา

นมแม่ทำให้เด็กตัวเหลือง ต้องหยุดให้นมแม่หรือไม่?
เด็กบางคนอาจเกิดอาการตัวเหลืองจากนมแม่ (Breast milk jaundice) กลไกยังไม่แน่ชัดทั้งหมด แต่เมื่อลองหยุดนมแม่สัก 2 - 3 วัน
สารบิลิรูบินจะลดลงมาก เป็นการพิสูจน์ว่าภาวะเหลืองเกิดจากนมแม่ หลังจากนั้นให้นมแม่ต่อได้เพราะเด็กจะไม่เหลืองมากไปกว่าเดิม
 และไม่เกิดภาวะสารบิลิรูบินไปจับที่สมอง อาการของเด็กในภาวะนี้จะปกติไม่ซึม

อาการเหลืองจากนมแม่เกิดเมื่อเด็กอายุหลังสัปดาห์ที่ 1 จนถึงสัปดาห์ที่ 2 - 3 หรืออาจนานกว่านั้นก็ได้
ซึ่งต้องแยกจากตัวภาวะเหลืองเนื่องจากนมแม่มีน้อย (Breast feeding jaun dice) ซึ่งเกิดในช่วงอายุ 2 - 3 วันแรก
 ปัญหาหลังนี้เกิดจากลำไส้ของเด็กยังเคลื่อนตัวไม่ดี แต่จะดีขึ้นเมื่อให้ดูดนมแม่บ่อยๆทั้งกลางวันและกลางคืน
ส่วนภาวะเหลืองจากนมแม่ (Breast milk jaundice) หากเหลืองมากจะดีขึ้นได้จากการรักษาด้วยการส่องไฟ

เมื่อไรควรพาเด็กไปพบแพทย์?
เมื่อสังเกตว่าเด็กตัวเหลืองควรพาเด็กพบแพทย์เมื่อ
เมื่อเด็กตัวเหลืองได้รักษาจนอาการเหลืองลดลงและออกจากโรงพยาบาลแล้ว กลับบ้านมีอาการเหลืองขึ้นอีก
 ควรพาไปพบแพทย์เพราะอาการเหลืองอาจเกิดจากหลายสาเหตุร่วม กัน อย่ามัวเอาลูกตากแดด
 เพราะหลายครั้งที่พบว่าเด็กเหลืองมากและเหลืองมานานกว่าจะมาโรงพยาบาล
เนื่องจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายบางครอบครัวยังเชื่อว่า ถ้าเหลืองให้เอาลูกตากแดดจะหายเหลือง
ทำให้เสียโอกาสในการรีบรักษาให้ได้ผลดี

ในเด็กที่อุจจาระสีซีดมาก เรื่องนี้สำคัญมากโดยปกติอุจจาระเด็กจะมีสีเหลืองหรือสีเขียวหรือสีน้ำตาล
 แต่เด็กที่มีอุจจาระซีดบางคนซีดจนเหมือนกระดาษหรือแป้ง ภาษาแพทย์เรียกว่า Acholic stool และมีตัวเหลือง ปัสสาวะเข้ม
 แต่บางคนอาจมองเห็นตัวเหลืองไม่ชัดเจน ภาวะนี้ถือเป็นภาวะเร่งด่วนเพราะเป็นอาการของทางเดินท่อน้ำดีตีบตัน (Biliary atresia)
 เป็นภาวะที่ต้องรีบวินิจฉัยและผ่าตัดเปิดทางระบายน้ำดี
เวลาที่ดีที่สุดในการรักษาเด็กตัวเหลืองไม่ควรเกิน 2 เดือน (8 สัปดาห์) เพราะหากเด็กอายุมากแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ตับ
การทำงานของตับเสียมากขึ้นจนในที่สุดเกิดภาวะตับวาย เมื่อมีภาวะตับวายแล้วจะไม่มีทางรักษาเลย
นอกจากโชคดีจะได้เปลี่ยนตับซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ และผลการทำการเปลี่ยนตับไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้
ควรระลึกเสมอว่า เมื่อตับวายเด็กไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้

สิ่งที่พบเสมอคือ พ่อแม่มักพาลูกที่มีอาการท่อน้ำดีตีบตันไปโรงพยาบาลล่าช้าเนื่องจาก เด็กดูสบายดี ไม่เจ็บไข้
มีแต่เหลืองอย่างเดียว พ่อแม่จึงนิ่งนอนใจผัดวันประกันพรุ่งจนสายเกิน ไปที่จะช่วยเหลือได้ทันท่วงที

ป้องกันภาวะตัวเหลืองในเด็กได้อย่างไร?
แม้สาเหตุของภาวะตัวเหลืองในเด็กหลายชนิดไม่สามารถป้องกันได้ แต่มีภาวะตัวเหลือง ในเด็กบางภาวะสามารถป้องกันได้เช่น
ภาวะติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์ มารดาควรรีบฝากครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสแรก (3เดือนแรกที่ตั้งครรภ์)
 ซึ่งจะได้รับประโยชน์ทั้งการเจาะเลือดตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมเช่น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง
และตรวจหาภาวะติดเชื้อในแม่เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคซิฟิลิส ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/โรคเอดส์
ทำให้สามารถทราบว่าอาจมีการติดเชื้อในเด็กตั้งแต่ในครรภ์ โรคบางอย่างสามารถรักษาได้
เมื่อใกล้คลอดหรือในระหว่างให้ลูกกินนมแม่ แม่ต้องระวังการใช้ยาบางอย่างเช่น ยา กลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide)
 ทำให้บิลิรูบินจับกับอัลบูมินได้ไม่ดีหรือทำให้มีเม็ดเลือดแดง แตกในเด็กที่มีภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency)
 อาจทำให้เกิดตัวเหลืองในเด็กแรกคลอด

ในเด็กแรกเกิดแม่ควรให้ลูกได้ดูดนมแม่เร็วที่สุด ให้ลูกดูดนมแม่บ่อยๆให้ได้ 10 - 12 ครั้งต่อวัน
 เพราะจะทำให้ลำไส้ของลูกเคลื่อนตัวทำงานได้ดี ช่วยขับสารสีเหลือง/บิลิรูบินออก ไปได้ดี
ไม่อบผ้าอ้อมด้วยลูกเหม็นซึ่งเป็นสารที่อาจทำให้เด็กที่ขาดเอนไซม์จีซิกพีดีเกิดภาวะ เม็ดเลือดแดงแตกมากขึ้น
 ผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่ซื้อมาใหม่ๆควรซักให้สะอาดก่อนใช้เพราะอาจถูกอบด้วยสารกันแมลง

ภายหลังการรักษาเมื่อเด็กกลับบ้านควรดูแลเด็กอย่างไร? ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ ไร?
ในเด็กที่มีอาการตัวเหลือง เมื่อรักษาสาเหตุและระดับของสารบิลิรูบินลดลงจนไม่อยู่ในระดับที่มีอันตราย
ร่วมกับอาการทั่วไปของเด็กดีไม่ซึม แพทย์จะอนุญาตให้พาเด็กกลับบ้านได้และแพทย์อาจนัดติดตามอาการอีกตามความจำเป็นและตามข้อบ่งชี้
การเลี้ยงดูเด็กเมื่อกลับบ้าน มารดาบิดาควรช่วยกันเลี้ยงลูก อาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กในวัยนี้คือนมแม่อย่างเดียวจนถึงอย่างน้อยหกเดือน
 หลังจากนั้นให้อาหารเสริมตามวัยร่วมกับนมแม่ต่อไป

ดังนั้นในช่วงที่ลูกตัวเหลืองยกเว้นช่วง 2 - 3 วันที่แพทย์ต้องการพิสูจน์ว่าเหลืองจากนมแม่หรือไม่เท่านั้นที่แพทย์อาจให้ลองงดนมแม่
นอกเหนือจากนี้แม่ควรให้ลูกกินนมแม่ตลอด ใน ช่วงที่ลูกหยุดนมแม่ แม่ต้องปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกกิน (เก็บไว้ในตู้เย็นหรือแช่แข็งถ้าต้องการเก็บไว้ นาน)
การให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธีและดูดบ่อยๆทำให้นมแม่มีมากพอให้ลูกกิน เพราะนมแม่เป็นอาหารดีที่สุดของเด็กอ่อน
เด็กที่มีสุขภาพดีจะดูมีความสุขคือ ไม่ซึม กินได้ดี ดูดนมแรง กินนมอิ่มก็หลับได้ เล่นได้ ร้องเสียงดัง อุจจาระปัสสาวะปกติ
เด็กกินนมแม่อาจถ่ายอุจจาระวันละหลายครั้ง แต่น้ำหนักขึ้นดี
หากเด็กซึม ไม่ดูดนม ไม่ค่อยร้อง มีไข้ หรือตัวเย็นกว่าปกติ เหลืองมากขึ้น ท้องอืด อา เจียน ท้องเสียเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
หรือถ่ายเป็นมูกหรือเลือดปนแม้แต่ครั้งเดียว ตาลอย กระตุกหรือชักเกร็ง หอบ เขียว อาการหนึ่งอาการใดหรือหลายอาการร่วมกัน
ต้องรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดหรือพบแพทย์ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

มารดาบิดาควรศึกษารายละเอียดให้เข้าใจในสมุดพกประจำตัวเด็กในการเลี้ยงดูติดตาม ดูแลเด็ก ทั้งเรื่องการให้วัคซีน
การเจริญเติบโต พัฒนาการในด้านต่างๆ การให้อาหารเด็ก

ขอบคุณที่มา
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ
วว.กุมารเวชศาสตร์, อว.โลหิตวิทยา

เด็กที่มีสุขภาพดีจะดูมีความสุขคือ ไม่ซึม กินได้ดี ดูดนมแรง กินนมอิ่มก็หลับได้ เล่นได้ ร้องเสียงดัง อุจจาระปัสสาวะปกติ
เด็กกินนมแม่อาจถ่ายอุจจาระวันละหลายครั้ง แต่น้ำหนักขึ้นดี
บันทึกการเข้า


♪♪♪ รวมบทกลอนน้องจ๋า คลิกค่ะ ...

ขอบคุณทุกภาพจาก Internet และเพลงจากYouTube
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: