การแบ่งมรดกที่ไม่มีพินัยกรรม แบ่งกันอย่างไร ?
ช่วงนี้ได้ยินข่าวคนที่มีชื่อเสียงเสียชีวิตกันอยู่บ่อย ๆ หลายคนคงอยากจะทราบ และสงสัยกันว่า ถ้าบุคคลที่เสียชีวิตไปเหล่านี้ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทายาทจะแบ่งทรัพย์สินกันอย่างไร ?
เรื่องแบบนี้พี่น้องตัดญาติขาดมิตรกันมาเยอะแล้ว หากผู้ตายมีบุตรหลายคน ไหนจะบุตรที่เป็นไพ่ใบสุดท้ายที่เพิ่งถูกเปิดเผยอีกล่ะ จะทำอย่างไร ?
เรื่องของการแบ่งทรัพย์มรดกนับว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอยู่ ขอคลายความสงสัยให้ได้ทราบกันตามหลักการเบื้องต้น ดังนี้
ในเรื่องของมรดกนั้น ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ซึ่งกำหนดขอบเขตของมรดกไว้ว่า
กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ (มาตรา ๑๖๐๐)
อะไรที่เป็นการเฉพาะตัว คือ สิ่งที่ผู้ตายต้องทำเองอันนี้ก็ไม่ผูกพัน เช่น ถ้าผู้ตายเป็นนักร้อง เกิดตายก่อนขึ้นคอนเสิร์ต ที่ก่อนหน้านี้ขายบัตรหมดแล้ว เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ผู้ตายต้องทำเอง ผู้รับมรดกไปทำแทนไม่ได้ เป็นต้น
เมื่อกฎหมายวางหลักไว้แบบนี้แสดงว่ากองมรดกของผู้ตายนั้นไม่ได้หมายความถึงทรัพย์สินอย่างเดียวเท่านั้น หนี้สิน หรือภาระต่าง ๆ ก็รวมอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งผู้รับมรดกจะต้องรับไปทั้งหมด
แต่ถ้าผู้ตายมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ผู้รับมรดกก็ไม่ต้องรับผิดชอบหนี้สินที่เกินกว่าทรัพย์มรดกตกทอดที่ได้มา (มาตรา ๑๖๐๑)
ผู้รับมรดกตกทอดของผู้ตายที่มีสิทธิ์ตามกฎหมายนั้น จะเรียกว่า "ทายาทโดยธรรม" (มาตรา ๑๖๐๓)
ทายาทโดยธรรมจะมี ๖ ลำดับเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ได้รับมรดก ก่อนหลังดังต่อไปนี้ (มาตรา ๑๖๒๙)
(๑) ผู้สืบสันดาน ก็คือ ลูก หรือ หลาน
(๒) บิดามารดา
(๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(๔) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(๕) ปู่ ย่า ตา ยาย
(๖) ลุง ป้า น้า อา
ลำดับชั้นของการรับมรดกนั้นจะเรียงไปตามลำดับก่อนหลัง หากทายาทลำดับที่ ๑ ยังมีชีวิตอยู่ ทายาทในลำดับถัดไปก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดก
แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า ทายาทลำดับที่ ๑ ยังมีชีวิตอยู่ และบิดามารดาของผู้ตายก็ยังมีชีวิตอยู่ (ทายาทลำดับที่ ๒) บิดามารดาของผู้ตายนั้นจะได้รับส่วนแบ่งมรดกเหมือนทายาทชั้นบุตร (มาตรา ๑๖๓๐) คือ ชั้นผู้สืบสันดานในฐานะเท่ากับลูกของผู้ตาย ให้แบ่งมรดกเท่า ๆ กัน เพราะกฎหมายถือว่าเป็นญาติในลำดับที่สนิทที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น
นายหนึ่งมีทรัพย์สินอยู่ ๑๐๐,๐๐๐ บาท มีภรรยาแต่ตายไปนานแล้ว มีบุตรด้วยกัน ๒ คน อาศัยอยู่กับ บิดา มารดา และพี่สาว ๑ คน ถ้านายหนึ่งตายไป ถามว่าจะแบ่งทรัพย์สินกันอย่างไร
คำตอบคือ
บิดา มารดา และบุตร อีก ๒ คน จะได้รับส่วนแบ่งเงินคนละเท่า ๆ กันคือ คนละ ๒๕,๐๐๐ บาท ส่วนพี่สาวนั้นเป็นญาติลำดับถัดลงไปไม่ได้อะไรเลย (ตามมาตรา ๑๖๒๙ และ๑๖๓๐)
แล้วภรรยา หรือสามี ที่เป็นคู่สมรสของผู้ตายล่ะ ไม่ได้รับมรดกเลยหรือ เป็นทายาทลำดับใด กฎหมายแยกพูดไว้โดยเฉพาะเลยครับ
สำหรับคู่สมรสที่ได้จดทะเบียนโดยชอบตามกฎหมาย ให้แบ่งสินสมรสให้กับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ครึ่งหนึ่งก่อน แล้วทรัพย์มรดกส่วนที่เหลือจึงจะแบ่งให้แก่ทายาท กล่าวคือ นอกจากคู่สมรสจะแบ่งสินสมรสมาครึ่งหนึ่งแล้ว ก็ยังมีสิทธิ์ได้รับมรดกของผู้ตายส่วนที่เหลืออีกด้วย ซึ่งไม่ว่าจะมีทายาทลำดับใดมีชีวิตอยู่ คู่สมรสจะได้รับส่วนแบ่งเสมอจะมากน้อยตามที่กฎหมายกำหนด
ทีนี้มาดูว่าทายาทของผู้ตายนั้นมีทายาทในลำดับใดอยู่บ้างและคู่สมรสจะได้กี่ส่วน ดังนี้
(๑) ถ้ามีทายาทในชั้นผู้สืบสันดาน คู่สมรสมีสิทธิ์ได้ส่วนแบ่งเหมือนเป็นทายาทชั้นบุตร
(๒) ถ้ามีทายาทในชั้นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือถ้าไม่มีบุตรแต่บิดามารดาของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิ์ได้รับมรดกครึ่งหนึ่ง
(๓) ถ้ามีทายาทคือ พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน หรือลุง ป้า น้า อา หรือมีปู่ ย่า ตา ยายแล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิ์ได้มรดก ๒ ใน ๓ ส่วน
(๔) ถ้าผู้ตายไม่มีทายาทเลย คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิ์ได้รับมรดกทั้งหมด
การแบ่งทรัพย์มรดกนั้นเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวอยู่ไม่น้อย ทางที่ดีผู้ที่มีทรัพย์สินเยอะ ๆ เป็นครอบครัวใหญ่ มีลูกหลาน หรือมีพี่น้องมาก ๆ ควรทำพินัยกรรมไว้จะดีกว่า คนข้างหลังจะได้ไม่ต้องทะเลาะกันครับ
http://hilight.kapook.com/view/136106