#ความรู้เกี่ยวกับอาวุธปืน
ปืนบ่มีลูกยิงถูกก็บ่ตาย แต่อาวุธปืน นั้นถือว่าเป็นทรัพย์อันตรายโดยมีอานุภาพร้ายแรงสามารถทำลายชีวิตคนได้ในพริบตา
ดังนั้น กฎหมายจึงได้บัญญัติกฎเกณฑ์เพื่อกำหนดเงื่อนไขของผู้ที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง ทั้งนี้ เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญ จึงได้รวบรวมปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการมีและใช้อาวุธที่ควรรู้ มาบอกครับ
๑. คำว่าอาวุธปืน มีความหมายอย่างไรบ้าง ?
ตามกฎหมายอาวุธปืน หมายถึง
๑.๑ เครื่องมือที่ใช้ยิงไปทำอันตรายร่างกายถึงสาหัสได้ ปืนที่ไม่อาจทำอันตรายร่างกายถึงสาหัสได้โดยสภาพ เช่น ปืนเด็กเล่น ไม่ใช่อาวุธปืนตามความหมายของกฎหมาย แต่กฎหมายเรียกว่า "สิ่งเทียมอาวุธปืน"
๑.๒ ปืนที่ใช้ยิงไม่ได้ เช่น ชำรุด ถือเป็น ส่วนหนึ่งของอาวุธปืน แต่พลุ สะดุดส่องแสง แบบเอ็ม ๔๙ Al ไม่มีสภาพเป็นเครื่องกระสุนปืน และไม่มี สภาพเป็นอาวุธ แต่ถ้ามีไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็มีความผิดเช่นกัน
๑.๓ ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนตามกฎหมายให้ถือเป็นอาวุธปืนด้วย เช่น
(๑) ลำกล้อง
(๒) เครื่องลูกเลื่อน หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลูกเลื่อน
(๓) เครื่องลั่นไก หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลั่นไก
(๔) เครื่องส่งกระสุน ซองกระสุน หรือส่วนประกอบสำคัญของ สิ่งเหล่านี้ แต่พานท้ายปืน
สายสะพาย ไม้ประดับด้ามปืน ไม่ใช่อาวุธปืน
๒. หากว่าเรามีอาวุธปืน แต่มันชำรุดใช้ยิงไม่ได้แล้วเก็บเอาไว้ที่บ้าน เช่นนี้เราจะมีความผิดหรือไม่ ?
กรณีดังกล่าวเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้อาวุธปืนดังกล่าวจะเป็นปืนที่ชำรุดใช้การไม่ได้แล้วก็ตาม เว้นแต่จะมีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนกระบอกซึ่งชำรุดดังกล่าว จึงจะไม่มีความผิด
๓. ถ้าเรามีเพียงแมกกาซีนของปืนโดยไม่มีตัวปืน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบเจอที่บ้านของเรา จะมีความผิดไหม ?
แมกกาซีนแม้จะเป็นเพียงชิ้นส่วนหนึ่งของอาวุธปืนโดยไม่มีตัวปืน และโดยลำพังตัวแมกกาซีนเองก็ไม่สามารถใช้ยิงทำอันตรายใครได้ก็ตาม แต่อาวุธปืนตามกฎหมายหมายถึงอาวุธปืนและส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนด้วย ดังนั้น แมกกาซีน จึงถือว่าเป็นอาวุธปืนตามกฎหมาย การมีไว้ครอบครองจึงเป็นความผิดฐาน มีอาวุธปืนไว้ในครอบ ครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุที่ต้องมีการบัญญัติถึงชิ้นส่วนของอาวุธปืนให้ถือว่าเป็นอาวุธปืนด้วยนั้นเนื่องจากอาวุธปืนสามารถถอดประกอบได้ หากมีชิ้นส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนไม่เป็นความผิดแล้ว อาจเป็นช่องว่างให้กับคนทำผิดได้ โดยขณะไปเที่ยวอาจแบ่งชิ้นส่วนกันไว้คนละอย่างสองอย่าง เวลามีเรื่องกันก็นำชิ้นส่วนมารวมกันประกอบเป็นปืน ดังนั้น กฎหมายจึงต้องบัญญัติให้ชิ้นส่วนของอาวุธปืน ถือว่าเป็นอาวุธปืนด้วย
๔. ถ้ามีปลอกกระสุนปืน ซึ่งเป็นส่วนของกระสุนปืนที่ใช้ยิงแล้วไว้ในครอบครองจะมีความผิดไหม ?
ปลอกกระสุนปืนนั้นตามสภาพเป็นสิ่งสำหรับใช้ประกอบเป็นกระสุนปืนได้ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าเป็นกระสุนปืนด้วย ดังนั้นผู้มีไว้ครอบครองจึงมีความผิดตามกฎหมายด้วย เว้นแต่ปลอกกระสุนปืนนั้นไม่มีสภาพเป็นสิ่งใช้ประกอบเครื่องกระสุนปืนแล้ว เช่น มีปลอกกระสุนปืนที่มีการเจาะรูแล้วและได้คล้องกับสร้อยใช้ห้อยคอเพราะไม่สามารถใช้สำหรับประกอบเป็นกระสุนปืนได้อีก
๕. หากเราต้องการจะมีปืนไว้เป็นสมบัติของเราเองจะต้องทำอย่างไร ?
การที่ประชาชนจะมีหรือใช้อาวุธปืนได้โดยถูกกฎหมายนั้น จะต้องขออนุญาตจากทางราชการก่อน ใบอนุญาตที่เกี่ยวกับอาวุธปืนที่สำคัญ ได้แก่
(๑) ใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.๓)
(๒) ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.๔) มี ๒ ประเภทด้วยกัน ได้แก่
- ใบอนุญาตแบบชั่วคราว มีอายุ ๖ เดือนนับแต่วันที่ออกใบอนุญาตนั้น
- ใบอนุญาตแบบถาวร ใช้ได้ตลอดเวลาที่ผู้ได้รับใบอนุญาต ยังเป็นเจ้าของอาวุธปืนนั้นอยู่
ดังนั้น หากท่านต้องการจะซื้อปืนสักกระบอก ท่านจะต้องขอใบอนุญาตซื้ออาวุธฯ หรือ ต้องมีใบ ป.3 ก่อนครับหากไม่มีคนซื้อและคนขายก็จะมีความผิดมีสิทธิติดคุกได้ครับ
และเมื่อคุณได้ใบอนุญาตซื้อ (ป.๓) และซื้ออาวุธ หรือได้อาวุธมาครอบครอบแล้ว คุณต้องไปขอใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (ใบ ป.๔) ด้วย หากไม่มี ย่อมมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษถึงจำคุก ทั้งนี้แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีปืนไว้ในครอบครองจากการได้รับมรดกมาก็ตาม
๖. การขอใบอนุญาตซื้ออาวุธ (ใบ ป.๓) และใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน (ป.๔) ต้องไปขอที่ไหน ?
ในต่างจังหวัดไปติดต่อขอได้ที่อำเภอท้องที่ที่ท่านมีภูมิลำเนาอยู่ โดยให้ยื่นคำร้องขอต่อนายอำเภอ ซึ่งเป็นนายทะเบียนตามกฎหมาย
ส่วนที่กรุงเทพมหานครนั้นไปติดต่อขอได้ที่แผนกทะเบียนอาวุธปืน กองทะเบียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อได้ยื่นคำร้องขอใบอนุญาตต่อทางราชการแล้ว นายทะเบียนก็จะพิจารณาว่าควรจะออกใบอนุญาตให้ผู้ขอหรือไม่ ซึ่งมีข้อสังเกตที่สำคัญ ๆ ดังนี้
ประการที่ ๑ ในการออกใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนนั้น จะออกให้ได้ใน ๓ กรณีเท่านั้น คือ
๑) เพื่อใช้ในการป้องกันตนเองและทรัพย์สิน
๒) เพื่อใช้ในการเล่นกีฬา
๓) เพื่อใช้ในการยิงล่าสัตว์
ถ้าไม่เข้ากรณีใดกรณีหนึ่งในสามกรณีนี้ทางราชการมักจะไม่ ออกใบอนุญาตให้
ประการที่ ๒ ใบอนุญาตหนึ่งใบจะออกให้สำหรับอาวุธปืนหนึ่งกระบอกเท่านั้น
ประการที่ ๓ ทางราชการจะไม่ออกใบอนุญาตให้มีหรือใช้ ให้แก่อาวุธที่เป็น อาวุธสงคราม
ประการที่ ๔ ผู้ที่จะขอใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ (มีอายุยังครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์) และไม่เป็นบุคคลที่เป็นคนไร้ความสามารถหรือ เสมือนไร้ความสามารถ (คนวิกลจริต.คนจิตฟั่นเฟือน), หรือไม่มีอาชีพ และรายได้ ไม่เป็นคนจรจัด หรือเป็นบุคคลผู้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง นอกจากนี้ทางราชการจะไม่ออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในท้องที่ที่บุคคลนั้น ขออนุญาตน้อยกว่าหกเดือน
๗. ขั้นตอนในการออกใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืน ต้องทำอย่างไรบ้าง ?
ในขั้นแรกนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธ (แบบ ป.๓) และใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนแบบชั่วคราว (แบบ ป.๔ ชั่วคราว) ให้ก่อน (ปกติร้านที่ซื้อจะจัดเตรียมให้) ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ให้ผู้ขออนุญาตไปจัดการหาซื้ออาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนมาให้พร้อมเสียก่อนโดยไม่ผิดกฎหมาย
ขั้นตอนต่อจากนั้นให้ผู้ขออนุญาตนำอาวุธปืนดังกล่าว ไปให้นายทะเบียนตรวจสอบว่าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนที่จัดหามานั้น มีชนิดและขนาดตรงตามที่ระบุไว้ในแบบ ป.๓ และ ป.๔ ชั่วคราวหรือไม่ ถ้าตรงนายทะเบียนก็จะออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนอย่างถาวร (แบบ ป.๔ ถาวร) ต่อไป
แต่ทั้งนี้จะต้องนำเอาอาวุธปืนไปให้นายทะเบียนตรวจสอบ ภายในกำหนด ๖ เดือนนับแต่วันที่ได้ออกใบอนุญาตชั่วคราวให้ ถ้าเกินกำหนด ๖ เดือนดังกล่าวไป ต้องถือว่าผู้ขออนุญาตนั้นมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต
หมายเหตุ : กรณีที่ซื้ออาวุธปืนจากเจ้าของที่ได้รับอนุญาตแล้ว ผู้ซื้อจะต้องไปขอรับใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนนั้น (ป.3) จากนายทะเบียนก่อน จากนั้นให้ผู้ขอซื้อนำใบอนุญาตให้ซื้อไปขอรับปืนจากผู้ขายได้เลย หรือจะไปหานายทะเบียนพร้อมกันทั้งผู้ซื้อและเจ้าของปืน ซึ่ง นายทะเบียนก็จะทำการออกแบบ ป.๔ ให้ผู้ซื้อต่อไป
๘. ถ้าหากเรามีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนจากนายทะเบียนท้องที่แล้ว เราสามารถครอบครองปืนกระบอกใดก็ได้ใช่หรือไม่ ?
ไม่ใช่ครับ คุณมีสิทธิครอบครองอาวุธปืนได้เฉพาะกระบอกที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเท่านั้น จะครอบครองอาวุธปืนกระบอกอื่นไม่ได้ แม้ผู้อื่นจะมีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนก็ตาม
๙. ถ้าเรามีใบอนุญาตให้มีละใช้อาวุธปืนจากนายทะเบียนท้องที่แล้ว เราสามารถนำอาวุธปืนของเราที่ชอบด้วยกฎหมายไปจำนำได้ไหม ?
การรับจำนำอาวุธปืนของผู้อื่นไว้ไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืนที่มีทะเบียนหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งอาวุธปืนตามกฎหมายแล้ว และถ้าผู้รับจำนำไม่มีใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่แล้ว จะมีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย
๑๐. ถ้าเราโอนขายอาวุธปืนที่มีทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายของเราให้แก่คนอื่น โดยคนอื่นมิได้มีใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืน กรณีเช่นนี้จะสามารถทำได้ไหม ?
ทำไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ทั้งตัวคุณและคนอื่น
สำหรับคุณนั้นถือว่าเป็นการโอนอาวุธปืนให้แก่ผู้มิได้รับใบอนุญาต ซึ่งตามกฎหมายผู้จะซื้อและมีอาวุธปืนได้นั้นจะต้องได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเสียก่อนจึงจะรับโอนซื้ออาวุธปืนมาได้
คุณซึ่งเป็นผู้โอนขายจึงมีความผิดฐานโอนอาวุธปืนให้แก่ผู้ซึ่งไม่มีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืน
ส่วนคนซื้อและมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ จึงมีความผิดฐานซื้อและมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
๑๑. ถ้าพ่อซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนถึงแก่ความตาย ลูกซึ่งเป็นทายาทจะต้องทำอย่างไร ?
ในกรณีที่เจ้าของอาวุธปืนซึ่งมีใบอนุญาตอยู่แล้วถึงแก่ความตาย กฎหมายกำหนดให้ทายาทของผู้ตาย หรือ บุคคลอื่น ๆ ซึ่งมีอาวุธปืน เครื่อง กระสุนปืน หรือใบอนุญาตให้มี หรือใช้อาวุธปืนของผู้ตาย ไปแจ้งการตายของเจ้าของปืนให้นายทะเบียนทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่รู้ถึงการตายของผู้ตาย ถ้าไม่มาแจ้งถือว่ามีความผิด ต้องโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท
โดยนายทะเบียนที่จะไปแจ้งการตายดังกล่าว ได้แก่
๑) นายทะเบียนท้องที่ที่ออกใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนนั้น
๒) นายทะเบียนท้องที่ที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่
๓) นายทะเบียนท้องที่ที่ผู้แจ้งการตายมีภูมิลำเนาอยู่
เมื่อได้แจ้งการตายต่อนายทะเบียนแล้ว ให้ทายาทผู้ได้รับอาวุธซึ่งเป็น มรดกของผู้ตาย ไปติดต่อกับนายทะเบียนท้องที่ภายใน ๖ เดือน นับแต่วัน ที่ผู้ตาย (เจ้าของปืน) ถึงแก่ความตาย เพื่อขอรับใบอนุญาตใหม่ ทั้งนี้ เพราะ ถึงแม้ว่าทายาทจะได้กรรมสิทธิ์ใบอาวุธปืนนั้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็นการ มีอาวุธไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงต้องยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ เพื่อขอใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืน (แบบ ป.๔) ซึ่งทางราชการก็จะพิจารณาว่า ทายาทหรือผู้ขออนุญาตมีคุณสมบัติที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะได้จัดการออกใบอนุญาตให้ต่อไป
๑๒. ถ้าเราได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้วเราสามารถจะพกพาอาวุธปืนไปไหนก็ได้ใช่ไหม ?
ไม่ใช่ การมีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนนั้น กฎหมายให้สิทธิการใช้เฉพาะในเคหะสถานบ้านช่องเท่านั้น เพื่อป้องกันสิทธิและทรัพย์สินของตนเอง จะพกพาอาวุธปืนออกไปภายนอกไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วน ตามสมควรแก่พฤติการณ์ หรือเป็นกรณีได้รับใบอนุญาตพกพาอาวุธตามกฎหมาย
๑๓. ถ้าเรามีใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนแล้วเราสามารถจะพกพาอาวุธปืนไปไหนก็ได้ใช่ไหม ?
ใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนนั้น มี ๒ ประเภท คือ
- ใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนเฉพาะในเขตจังหวัดของตน
- ใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนได้ทั่วราชอาณาจักร
ซึ่งในการอนุญาตก็ต้องขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการพกพาอาวุธปืนของผู้ขออนุญาต
ทั้งนี้แม้จะได้รับใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนแล้วก็ตาม ผู้ได้รับอนุญาตก็ไม่สามารถจะพกพาอาวุธปืนไปไหนมาไหนอย่างเปิดเผย และไม่สามารถจะพกพาอาวุธปืนเข้าไปในบริเวณที่มีงานมหรสพ งานรื่นเริง หรืองานทำบุญ
14. ถ้าต้องการจะมีอาวุธเก่าแขวนหรือเก็บเป็นไว้ที่บ้าน ต้องทำอย่างไร ?
"การเก็บ" ในที่นี้หมายถึง การมีไว้โดยไม่ใช้อาวุธปืนนั้น เช่น การ เก็บไว้เป็นที่ระลึก เป็นต้น ซึ่งผู้ใดที่ต้องการจะมีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บก็จำเป็น จะต้องขออนุญาตจากทางราชการด้วย โดยผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ไปขอใบอนุญาตมีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ ณ กองทะเบียน กรมตำรวจ ส่วน คนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นขอใบอนุญาตต่อนายทะเบียนท้องที่ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ จะออกให้แก่อาวุธปืนดังต่อไปนี้เท่านั้น คือ
๑) อาวุธปืนที่นายทะเบียนเห็นว่าชำรุดจนใช้ยิงไม่ได้
๒) อาวุธปืนแบบพ้นสมัย เช่น ปืนที่ใช้ในสมัยโบราณ, ปืนที่เป็นของเก่าแก่
๓) อาวุธปืนที่เป็นรางวัลจากการแข่งขันยิงปืนในทางราชการ
ฉะนั้นถ้าเป็นอาวุธปืนประเภทอื่น ๆนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ย่อมไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้เพื่อเก็บนอกจากนี้แล้วกฎหมายยังมีข้อห้ามเกี่ยวกับอาวุธปืนที่มีไว้เพื่อเก็บอีกด้วย คือ
๑) ห้ามมิให้ยิงอาวุธปืนนั้น
๒) ห้ามมิให้มีเครื่องกระสุนที่จะใช้สำหรับอาวุธปืนที่จะมีไว้เพื่อเก็บ
หมายเหตุ ผู้ใดที่มีอาวุธไว้เพื่อเก็บโดยมิได้รับอนุญาต ถือว่ามีความผิดต้อง ได้รับโทษตามกฎหมาย
15.ถ้าหลานชายได้พาเพื่อนๆมาเลี้ยงสังสรรค์งานวันเกิดกันที่บ้าน เพื่อนคนหนึ่งได้พกพาอาวุธปืนไม่มีทะเบียนมาด้วย เสร็จจากงานเลี้ยงแล้วทุกคนได้ชวนกันไปร้องคาราโอเกะ ระหว่างทางบนถนนทางหลวง หลานๆและเพื่อนได้ถูกตำรวจจับพร้อมอาวุธปืนที่ตัวเพื่อนดังกล่าว โดยหลานชายและเพื่อนๆคนอื่นๆ จะมีความผิดร่วมกับเพื่อนหลานชายคนดังกล่าวด้วยไหม?
ถ้าพยานหลักฐานฟังได้ว่าหลานชายของคุณและเพื่อนๆ ไม่ทราบถึงการมีอาวุธปืนดังกล่าว หลานและเพื่อนๆก็จะไม่มีความผิดฐานมีและพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยผิดกฎหมาย
16.อาวุธปืนมีทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อ ลูกจะมีสิทธิอ้างความเป็นลูก นำมาใช้ได้หรือไม่?
ลูกไม่ใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าว ดังนั้นลูกจึงไม่มีสิทธิครอบครองหรือใช้อาวุธปืนกระบอกดังกล่าวของพ่อได้ เพราะการได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น
17.อยากทราบว่าความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน ตาม พ.ร.บ.มีอะไรบ้าง ?
ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนได้แก่
๑) ทำ โดยมิได้รับอนุญาต
๒) ซื้อ โดยมิได้รับอนุญาต
๓) มี โดยมิได้รับอนุญาต
๔) ใช้ โดยมิได้รับอนุญาต
๕) สั่ง เข้ามาจากนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต
๖) นำ เข้ามาจากนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต
ความผิดทั้ง ๖ ประการ ถ้าเป็นเพียงเกี่ยวกับ ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืน หรือ "มีกระสุนปืน" ก็ถือว่ามีความผิดเช่นเดียวกัน ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน แต่ครอบครองอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายก็มีความผิดเช่นกัน
มีอาวุธปืนหมายถึง มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง
มีกรรมสิทธิ์หมายถึง เป็นเจ้าของอาวุธปืน
มีไว้ในครอบครองหมายถึง ยึดถืออาวุธปืนโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตน
"ยึดถือ" หมายถึง กิริยาที่รับ ถือ หรือเอามารักษาไว้
"ยึดถือเพื่อตน" หมายถึง กิริยาที่จับ ถือ หรือเอาอาวุธปืนมา รักษาไว้ในลักษณะที่แสดงอาการหวง การยึดถือเพื่อตนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการยึดถือไว้โดยเป็นเจ้าของเสมอไป
18. การครอบครองปืนของผู้อื่นอย่างไร ที่ไม่ผิดกฎหมาย ?
การครอบครองปืนของผู้อื่นที่ไม่ผิดกฎหมายมี ๓ กรณีคือ
(๑) ผู้ครอบครองอาวุธปืนที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น เท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาอาวุธนั้นมิให้สูญหาย และผู้ครอบครองนั้นจะต้องมีคุณสมบัติ ที่จะมี และใช้อาวุธปืนได้เช่น
- บิดานายแดงเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ต่อมา บิดานายแดงตาย นายแดงจึงครอบครองอาวุธปืนนั้น เพื่อรอแจ้งการตายภาย ในกำหนด ๓๐ วันนับแต่วันที่ทราบการตาย และขอรับมรดกของบิดา ดังนี้ นายแดงไม่มีความผิด
- นายหนึ่ง เป็นผู้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ต่อมานายหนึ่ง วิกลจริต นางสอง ภริยาของนายหนึ่ง จึงครอบครองอาวุธปืนของนายหนึ่ง เพื่อรอส่งมอบอาวุธปืนและใบอนุญาตแก่นายทะเบียน นางสองไม่มีความผิด
- นาย ก. เก็บอาวุธปืนมีทะเบียนได้ตั้งใจว่าจะนำไปมอบให้นาย ทะเบียน แต่ถูกจับก่อน ดังนี้ไม่มีความผิด แต่ถ้าผู้เก็บอายุแค่ ๑๕ ปี (ยังมี อาวุธปืนไม่ได้) หรือปืนที่เก็บได้เป็นปืนเถื่อน ดังนี้ ถ้าผู้เก็บได้เอามาใช้ก็มีความผิดด้วย
(๒) ครอบครองอาวุธปืนของราชการทหาร และตำรวจ และของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ
(๓) ครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนประจำเรือเดินทะเล รถไฟ และอากาศยานตามปกติ ซึ่งได้แสดงและให้พนักงานศุลกากรตรวจสอบตามกฎหมายแล้ว
หมายเหตุ-กฎหมายยกเว้นให้แต่อาวุธปืนของทางราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ มิได้ยกเว้นแก่ตัวราชการ หรือพนักงาน รัฐวิสาหกิจ
-การรับฝากปืนจากผู้อื่นในระยะเวลาอันสั้น หรือการเอาปืนของผู้อื่น มาถือไว้ชั่วขณะ ไม่ถือว่ามีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง
19.การพกพาอาวุธปืนทำได้หรือไม่ อย่างไร?
กฎหมายห้ามมิให้บุคคลพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็น กรณีมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เช่น ถือปืนติดตามคนร้าย หรือไฟไหม้บ้านต้องขนของและปืนหนีออกจากบ้าน หรือ ต้องพกปืนเพื่อป้องกันตัวเพราะนำเงินจำนวนมากติดตัวไปต่างจังหวัด เป็นต้น
หมายเหตุ–ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม กฎหมายห้ามเด็ดขาดมิให้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพหรือการอื่นใด ถึงแม้จะมีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืน ติดตัวก็ตาม ยกเว้นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหารและตำรวจซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ หรือประชาชนผู้ได้รับมอบหมายให้มีหรือใช้อาวุธปืน ซึ่งอยู่ในระหว่างการช่วยเหลือราชการ และมีเหตุจำเป็นต้องมีและใช้อาวุธปืนในการนั้น สำหรับผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตให้พกพาในกรุงเทพฯ คือ อธิบดีกรมตำรวจ ในต่างจังหวัดคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
20.เกี่ยวกับอาวุธปืน มีกรณีใดบ้างที่ต้องแจ้งนายทะเบียนทราบ ?
เหตุที่ต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบมี ดังนี้
(๑) อาวุธปืนหายหรือถูกทำลายต้องแจ้งนายทะเบียนภายใน ๑๕ วัน
(๒) ใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย ต้องขอใบอนุญาตแทน ภายใน ๓๐ วัน นับแต่ทราบเหตุการณ์สูญหาย หรือถูกทำลาย
(๓) ถ้าผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตาย ทายาทต้องแจ้งนายทะเบียนภายใน ๓๐ วัน นับแต่ทราบวันตายของผู้ได้รับใบอนุญาต มิฉะนั้นมีความผิด
(๔) ผู้ได้รับใบอนุญาต ย้ายที่อยู่ ต้องแจ้งย้ายต่อนายทะเบียนภาย ใน ๑๕ วันนับแต่วันย้าย โดยต้องแจ้ง ๒ ที่คือแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ ย้ายออกภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันย้ายออก และแจ้งต่อนายทะเบียนที่ย้ายเข้า ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันย้ายเข้า ใครไม่แจ้งมีความผิด
(๕) ผู้ได้รับใบอนุญาต หากกลายเป็นผู้ไม่มีสิทธิรับใบอนุญาตใน ภายหลัง เช่นกลายเป็นคนวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถ ต้องคืนอาวุธ ปืนและใบอนุญาตต่อนายทะเบียนโดยมิชักช้า มิฉะนั้นจะมีความผิด
(๖) ผู้ใดนำอาวุธปืนมาจากต่างประเทศ ต้องส่งมอบอาวุธปืนแก่ พนักงานศุลกากร หรือแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่โดยมิชักช้า มิฉะนั้นจะมี ความผิด
21. นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตได้หรือไม่อย่างไร ?
นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตได้ถ้าออกให้โดยหลงผิด หรือผู้ได้รับอนุญาตเป็นคนเคยต้องโทษมาก่อน เป็นต้น เมื่อเพิกถอนแล้วผู้รับอนุญาตต้องมอบปืนและใบอนุญาตคืนแก่นายทะเบียนโดยไม่ชักช้า
รวมรวมโดย : นายพรศักดิ์ สังข์สังวาลย์ ประธานสภาทนายความจังหวัดเชียงใหม่