-/> “คดีข่มขืนจำเป็นต้องประหาร หรือไม่ ? อย่างไร ?”

You are here: Khonphutorn.com - แหล่งข้อมูลของคนไทยหมวดอาชีพรู้กฎหมาย คลายปัญหา (ผู้ดูแล: พรหมพิพัฒน์)“คดีข่มขืนจำเป็นต้องประหาร หรือไม่ ? อย่างไร ?”
หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: “คดีข่มขืนจำเป็นต้องประหาร หรือไม่ ? อย่างไร ?”  (อ่าน 1595 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ดูแลเรื่องกฏหมายของเว็บ
คะแนนน้ำใจ 1010
กระทู้: 130
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« เมื่อ: 10 กุมภาพันธ์ 2559, 01:51:04 PM »

Permalink: “คดีข่มขืนจำเป็นต้องประหาร หรือไม่ ? อย่างไร ?”
“คดีข่มขืนจำเป็นต้องประหาร หรือไม่ ? อย่างไร ?”

ข้อถกเถียงเรื่องบทลงโทษผู้กระทำผิดคดีฆ่า-ข่มขืนถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอีกครั้งจากกรณี 4 วัยรุ่นฆ่าหนุ่ม และข่มขืนแฟนของผู้เสียชีวิตมาและย้อนไปจนถึงคดีสะเทือนขวัญที่พนักงานซึ่งมีหน้าที่ดูแลผู้โดยสารบนรถไฟข่มขืนและโยนเด็กหญิงวัย 13 ปี ออกนอกรถไฟจนผู้ถูกกระทำเสียชีวิต

คำถามว่า

“สังคมไทยควรเพิ่มโทษผู้กระทำผิดในคดีร้ายแรงอย่างเช่น การข่มขืนหรือไม่”

ถูกหยิบยกมาพูดถึงในสังคมอีกครั้ง

โทษสำหรับผู้กระทำความผิดข่มขืนผู้อื่นมีโทษจำคุก 4-20 ปี ส่วนโทษสำหรับข่มขืนและฆ่าผู้เสียหายเพื่อปกปิดความผิดมีโทษประหารชีวิตอยู่แล้ว แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลายคนเสนอแนวคิด

“ควรเพิ่มโทษกรณีข่มขืนให้เป็นโทษประหาร”

เพื่อไม่ให้คนในสังคมกล้ากระทำความผิด

พื้นฐานแนวคิด

แนวความคิดดังกล่าวเป็นแนวความคิดที่ไม่เหมาะสม การเพิ่มโทษให้ผู้กระทำผิดรับโทษประหารชีวิตสถานเดียวจะกลายเป็นการทำร้ายเหยื่อเพราะคนที่ลงมือไปแล้วไม่ว่าจะด้วยปัจจัยอะไรก็ตามจะมีทางเลือกทางเดียวคือต้องฆ่าผู้เสียหายเพื่อเอาตัวรอด การเพิ่มโทษถือเป็นการทำลายการยับยั้งของกฎหมาย

“การกำหนดฐานความผิดทางอาญาและการลงโทษคนต้องเป็นระดับขั้นบันไดไปการรณรงค์ให้มีการเพิ่มโทษ มองว่าไม่ใช่เป็นทางแก้ปัญหากลับเป็นการซ้ำเติมเหยื่อผู้เสียหายเสี่ยงต่อการถูกฆาตกรรมมากขึ้น”

ทางแก้ปัญหาอยู่ที่

“การเพิ่มโอกาสลงโทษบุคคลผู้กระทำความผิดมากกว่า”

โดนลองตั้งคำถามว่าผู้กระทำผิดที่มีความผิดซ้ำซากทำไมถึงไม่เกรงกลัวกฎหมายทั้งที่มีโทษจำคุกคำตอบ คือ โอกาสถูกลงโทษยังน้อยอยู่ โดยมีปัจจัยประกอบหลายอย่าง

ปัจจัยแรก คือ

การกำหนดโทษของผู้ข่มขืนบุคคลอายุมากกว่า 15 ปีสามารถยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายไม่เอาเรื่อง กฎหมายก็ไม่สามารถเอาผิดได้ แต่ในหลายประเทศการข่มขืนเป็นอาญาแผ่นดิน มีความผิดสถานหนักแม้ว่าผู้เสียหายไม่ต้องการเอาโทษก็ต้องลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างและเป็นการคุ้มครองบุคคลอื่นแต่ประเทศไทยยังเป็นความผิดที่ต้องให้ร้องทุกข์ยอมความได้อยู่

ปัจจัยต่อมา คือ

ความผิดข่มขืนบุคคลอายุเกิน 15 ปี กฎหมายเปิดโอกาสให้คู่กรณีสามารถเจรจาค่าเสียหายได้และเมื่อผู้กระทำความผิดจ่ายค่าเสียหายโดยที่ผู้เสียหายยินยอมคดีจะยุติลงทันทีตามประมวลกฎหมายคดีอาญาทำให้โอกาสในการลงโทษน้อยลงไปอีก

เพราะฉะนั้นทางแก้ปัญหาควรปรับให้ความผิดคดีข่มขืนเป็นอาญาแผ่นดินเหมือนที่หลายประเทศทำกันเมื่อเป็นอาญาแผ่นดินทำให้โอกาสลงโทษผู้ทำผิดมีมากขึ้นแม้ผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์ไม่เอาเรื่องก็สามารถลงโทษผู้ทำผิดได้

อีกหนึ่งปัจจัย คือ

เรื่องดุลยพินิจการลดโทษเมื่อจำเลยรับสารภาพ แม้ว่าผู้ทำผิดคดีข่มขืนและฆ่ามีโทษประหาร แต่เมื่อรับสารภาพจะได้รับลดโทษครึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา ก็ทำให้โอกาสลงโทษลดน้อยลงไปอีก ส่งผลให้คนไม่เกรงกลัว คิดว่าขนาดข่มขืนและฆ่าเมื่อสารภาพก็ไม่ถูกประหารอยู่ดี ความเข้าใจเรื่องการสารภาพและลดโทษครึ่งหนึ่งต้องมีการปรับความเข้าใจใหม่ การสารภาพในความผิดอุกฉกรรจ์ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาหรือการสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานต่าง ๆ บางกรณีก็ไม่ควรลดโทษ ควรลงโทษให้เต็มที่เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

ท้ายที่สุด โอกาสการถูกลงโทษยังลดน้อยลงเพราะปล่อยนักโทษข่มขืนเร็วเกินไป ผู้ทำความผิดที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือ 20 ปี แต่อยู่ในเรือนจำไม่นานก็ถูกปล่อยตัวด้วยเหตุผลว่านักโทษล้นเรือนจำ เพราะฉะนั้น ไทยน่าจะแยกว่าถ้าเป็นความผิดไม่ร้ายแรงก็อาจปล่อยเร็วได้ แต่ถ้าเป็นคดีร้ายแรงที่เป็นภัยต่อสังคมเช่นข่มขืนและฆ่า เมื่อเป็นภัยสังคมควรขังนักโทษเป็นเวลานานพอสมควรเพื่อให้สังคมรู้สึกว่าโทษที่กำหนดในกฎหมายบังคับใช้จริงและคนหวั่นเกรงไม่กล้าทำความผิด

โทษที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย

การลงโทษที่เหมาะสมต้องดูที่พฤติกรรมการกระทำผิด ถ้าผู้ทำผิดข่มขืนและปล่อยเหยื่อ การลงโทษประหารเกินสัดส่วนไป แต่การลงโทษอย่างเฉียบขาดและรวดเร็วน่าจะสาสม และทำให้สังคมสงบสุข เป็นการคุ้มครองผู้เสียหาย คุ้มครองสังคมให้ปลอดภัย

“ลองนึกภาพผู้ที่ข่มขืนถูกจับได้และกระบวนการยุติธรรมดำเนินการอย่างรวดเร็วและเฉียบขาดติดคุก 20 ปีเต็ม ผมเชื่อว่าอาชญากรรมเลียนแบบจะน้อยลงคนที่จะตัดสินใจทำผิดจะเกรงกลัว เขาไม่ได้เกรงกลัวโทษประหารชีวิตหรืออื่น ๆ แต่เขากลัวการบังคับใช้อย่างเด็ดขาดรวดเร็วมากกว่า ผมมองว่า การประหารชีวิตผู้ทำผิดกรณีข่มขืนไม่ได้สัดส่วน แต่การประหารชีวิตผู้ที่ข่มขืนและฆ่ามีโทษประหารชีวิตอยู่แล้วจึงไม่ต้องแก้กฎหมายในปัจจุบัน ที่ต้องแก้คือแก้ข้อบังคับข้างต้นมากกว่า”

เปรียบเทียบข้อกฎหมายในประเทศอื่น

อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงในสังคมยังคงมีการเปรียบเทียบแนวทางการลงโทษคดีร้ายแรงในประเทศไทยกับคดีลักษณะเดียวกันในต่างประเทศซึ่งดร.ปกป้องอธิบายว่าการลงโทษร้ายแรงในประเทศต่างๆแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ยกเลิกโทษประหารแล้วกับยังคงมีโทษประหาร

สำหรับกลุ่มประเทศที่ยกเลิกโทษประหารไปแล้ว เช่น ในประเทศกลุ่มทวีปยุโรป ไม่ว่าจะเป็นโทษร้ายแรงแค่ไหนก็จะไม่มีการลงโทษประหารแม้จะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือโทษร้ายแรงแค่ไหนจะลงโทษสูงสุดแค่จำคุกตลอดชีวิตโดยเหตุผลที่ดำเนินการแบบนี้เพราะรัฐมองว่าไม่มีสิทธิ์ประหารชีวิตประชาชนของตัวเองเพราะสิทธิมนุษยชนพื้นฐานคือสิทธิในการมีชีวิตของมนุษย์แต่ละคนไม่ว่าทำผิดร้ายแรงแค่ไหนก็ไม่ควรถูกลงโทษประหารโดยรัฐ

และอีกเหตุผลคือโทษประหารชีวิตเป็นโทษอย่างเดียวที่รัฐไม่สามารถเยียวยาผู้ถูกลงโทษได้ กล่าวคือไม่สามารถแก้ไขเมื่อเกิดการลงโทษ”แพะ”หรือกระบวนการยุติธรรมเกิดผิดพลาดลงโทษผู้บริสุทธิ์ถ้าลงโทษจำคุกปรับหรือยึดทรัพย์ยังสามารถคืนความยุติธรรมให้ผู้ถูกลงโทษได้หากสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ในภายหลัง ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจึงยกเลิกโทษประหาร

ขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศยังคงโทษประหารอยู่ โดยให้เหตุผลว่ามาตรการประหารชีวิตเป็นมาตรการที่ได้สัดส่วนแล้วสำหรับผู้กระทำความผิดฐานฆาตกรรมกลุ่มนี้มองว่า”ผู้ลงมือฆ่าคนอื่นก็ไม่มีสิทธิ์เอาชีวิตผู้อื่น”เพราะฉะนั้นการลงโทษประหารเป็นการลงโทษที่ได้สัดส่วนเหมือนกัน

ประเทศไทยยังมีแนวคิดแบบนี้อยู่แต่ปัญหาของประเทศไทยคือใช้ตัวบทลงโทษประหารชีวิตมากเกินสมควรการประหารชีวิตฆาตกรหรือผู้ข่มขืนและฆ่ายังพอได้สัดส่วนและอธิบายได้แต่ประเทศไทยประหารชีวิตพ่อค้ายาเสพติดประหารผู้ทำผิดโดยผู้ทำไม่มีเจตนาฆ่าด้วยเช่นชิงทรัพย์และเกิดทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยไม่มีเจตนาฆ่าหรือความผิดอื่น ๆ ที่ไม่มีเจตนาฆ่า แต่การกระทำส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในกฎหมายไทยยังลงโทษประหารอยู่ ซึ่งดร.ปกป้องมองว่าเป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนและควรใช้มาตรการอื่นในการเพิ่มโอกาสลงโทษหรือจับกุมคุมขังมากกว่า

ส่วนแนวคิดเรื่อง

“ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

ถือเป็นทฤษฎีหนึ่งที่ใช้ลงโทษผู้ทำผิดมาตั้งแต่ยุคโบราณ เป็นแนวคิดเชิงแก้แค้น ทดแทนกันซึ่งยังมีอยู่ในบางประเทศ

เมื่อถามว่าประเทศไทยใช้ได้หรือไม่ ?

ประเทศไทยไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวในสังคมโลก เราอยู่ในสังคมโลกาภิวัฒน์และอยู่ในโลกที่ผูกพันกับกติการะหว่างประเทศ เราไปยอมรับกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมากมาย

กติกาหลักคือ ICCPR กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองประเทศไทยเป็นภาคีการลงโทษต่าง ๆ คงไม่สามารถใช้หลักตาต่อตาฟันต่อฟันแบบดั้งเดิมได้ เพราะเราอยู่ใต้พันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยการลงโทษต้องสอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม การลงโทษจำคุกหรือประหารยังพอรับได้ใน ICCPR แต่การลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟันแบบอื่น ๆ อย่างการทรมานหรือทำให้พิการ เขายอมรับไม่ได้ในกติกาที่เราเป็นภาคี แม้กระทั่งโทษบางอย่างที่ในบางประเทศยึดถือ เช่น การเฆี่ยนตีในสิงค์โปร์หรือมาเลเซีย แต่ประเทศไทยไม่สามารถกลับมาใช้ได้เพราะผูกพันในกติการะหว่างประเทศ

โทษจากมุมมองของเหยื่อ

บางแง่มุมยังมีผู้ตั้งคำถามกลับมาว่า ”ถ้าผู้เสียหายเป็นญาติหรือเป็นตัวคุณเอง คุณจะยอมรับการลงโทษผู้ทำผิดสถานเบาได้หรือ?”

การแก้แค้นที่ยอมรับได้ตามสังคมปัจจุบันคือการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ต้องตั้งหลักโดยยอมรับว่า การข่มขืนเป็นความเสียหายต่อผู้ถูกกระทำและสังคมเป็นอย่างมากจริง ๆ เมื่อถามว่าโทษที่เหมาะสมจะเป็นอย่างไร โทษที่เหมาะสมก็คือ การจองจำระยะยาว เช่น ในต่างประเทศข่มขืนจะจำคุก 15-30 ปี ซึ่งเป็นการจำคุกระยะยาวที่จะคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียหาย และคืนความสงบให้สังคม

“เพราะฉะนั้น การลงโทษผู้ข่มขืนที่ไม่ได้ฆ่าเหยื่อ น่าจะเป็นการจำคุกระยะยาวจริง ๆ และให้ผู้กระทำความผิดรับโทษอย่างสาสมในเรือนจำ และเป็นการลงโทษอย่างเฉียบขาด รวดเร็ว ไม่ใช่ดำเนินการล่าช้า ผมเชื่อว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าทำให้เกิดความอยุติธรรมเสมอ สิ่งที่ผู้เสียหายต้องการและเรียกร้อง ผมมองว่าการจำคุก 20-30 ปี และมีคำพิพากษาอย่างรวดเร็วจึงเป็นสิ่งที่น่าจะเป็นที่พึงพอใจสำหรับผู้เสียหาย”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า กระบวนการยุติธรรมไทยล่าช้า และมีการยอมความกันได้ ความยุติธรรมที่ล่าช้า และนานเกิน ทำให้ผู้เสียหายรู้สึกว่า บ้านเมืองไม่มีกฎหมาย แม้จะลงโทษจำคุกจริง ๆ ก็มีกระบวนการผลักดันนักโทษออกจากเรือนจำ ถ้าศาลตัดสินจำคุก 20 ปี แต่ในความเป็นจริง กระบวนการผลักดันนักโทษก็อาจทำให้ติดคุกไม่กี่ปีก็ออกมาได้แล้ว ตรงนี้น่าจะเป็นจุดที่ต้องปรับปรุง

เจตนารมณ์ของกฎหมาย

ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมอยู่บนพื้นฐานของการให้โอกาสมากกว่าการมุ่งลงโทษ แต่แนวคิดนี้ถูกตั้งคำถามว่ายังใช้ได้อยู่หรือไม่ ดร.ปกป้องเชื่อว่า สำหรับความผิดคดีที่ไม่ใช่ระดับอุกฉกรรจ์ การให้โอกาส พยายามปรับปรุง ฟื้นฟูและแก้ไขให้ผู้ทำผิดกลับคืนสู่สังคมเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่อีกประเภทอย่างอาชญากรรมร้ายแรง คดีอุกฉกรรจ์ เชื่อว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องการให้โอกาส แต่เป็นการลงโทษอย่างรุนแรงเพื่อรักษาความปลอดภัยและยับยั้งเพื่อไม่ให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

การยับยั้งทำได้ 2 กรณีคือยับยั้งคนที่ทำผิดให้ไม่กล้ามาทำผิดอีก และแบบที่ 2 คือ ยับยั้งไม่ให้เกิดการเลียนแบบไม่ให้สังคมรู้สึกว่าโทษเบาหรือให้โอกาสกันมากเกินไปคดีฆ่าคนตาย พฤติกรรมร้ายแรงเป็นภัยต่อสังคมอื่น ๆ ควรลงโทษอย่างรุนแรง เฉียบขาด ตามหลักสิทธิมนุษยชนคือการจำคุกระยะยาว คือการลงโทษที่สอดคล้องกับหลักการมากที่สุด จากนั้นก็ไปดูที่หลักการให้โอกาสหลังพ้นโทษ น่าจะเป็นนโยบายการลงโทษที่สอดคล้องกับสังคมไทยมากที่สุด

“หลักกฎหมายมีอยู่แล้วว่าการทำผิดเล็กน้อยในครั้งแรกเราให้โอกาสปรับปรุงไม่ว่าเป็นการรอลงโทษหรือจำคุกระยะสั้นแต่โอกาสคนให้ได้ครั้งเดียว เราให้เพราะเขาอาจทำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ถ้าได้รับโอกาสแล้วเขาทำผิดอีกจะต้องไม่ให้โอกาสอีก แม้จะเป็นความผิดเล็กน้อยเราควรลงโทษอย่างรุนแรงตามหลักสิทธิมนุษยชน”

กระบวนการยุติธรรมที่ต้องแก้ไข

เสียงวิจารณ์ต่อกฎหมายยังดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าตัวกฎหมายและโทษที่กำหนดในความผิดอาญาไม่มีปัญหาปัญหาอยู่ที่สภาพบังคับของกฎหมายสิ่งที่ต้องคิดคือจะทำอย่างไรให้กระบวนการตรงไปตรงมาเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นโดยถูกต้องและยุติธรรม เพิ่มโอกาสในการถูกลงโทษมากขึ้นเพื่อให้คนเกรงกลัวความผิด แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมมีปัญหาหลายเรื่อง

ยกตัวอย่างปัญหาใหญ่ 2 เรื่องที่เป็นเรื่องต้องแก้เร่งด่วน

เรื่องแรก คือ

การทุจริต คอร์รัปชั่น ถ้ากระบวนการยุติธรรมปราศจากหรือลดโอกาสลง สภาพการบังคับกฎหมายจะเข้มแข็งขึ้น คนจะเกรงกลัวกฎหมายเมื่อการติดสินบน การวิ่งเต้นขอคดีลดลงหรือไม่มีเลย

เรื่องต่อมา คือ

กระบวนการยุติธรรมไทยขาดความร่วมมือกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ละฝ่ายต่างคนต่างทำหน้าที่โดยขาดการประสานงานกันผลคือกระบวนการล่าช้าแทนที่จะดำเนินคดีและลงโทษรวดเร็วกลับกลายเป็นความล่าช้ากระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าทำให้คนไม่ยำเกรงกฎหมายก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์เมื่อกระบวนการมีปัญหา เชื่อว่าปัญหา 2 ประการนี้เป็นสิ่งที่ควรปฏิรูปก่อนเมื่อพูดถึงกระบวนการยุติธรรม

ศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท หัวหน้าภาควิชากฎหมายอาญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แสดงความคิดเห็นทางกฎหมายเบื้องต้นซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557)
บันทึกการเข้า

ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ปล่อยวางบ้าง
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: