ลดเสี่ยง เลี่ยงอัมพาต โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุข
มีอัตราการเสียชีวิต เป็นอันดับที่ 3 รองจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ
และคาดว่าในปี พ.ศ. 2559 จะมีผู้สูงอายุที่ป่วยจากโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต อัมพฤกษ์ 995 คน
ต่อประชากร 100,000 คน โดยทุก 2 นาที มีคนเป็นอัมพาต 1 ราย และทุก ๆ 6 วินาที จะมีผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเสียชีวิต 1 คน
“สมองเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด เนื่องจากทำหน้าที่ควบคุมการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ในสมองจะประกอบด้วย
หลอดเลือดที่เป็นเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย หากเส้นเลือดเหล่านั้นตีบ ตันหรือแตก ก็จะส่งผลให้ร่างกายป่วยทันที
หากมาพบแพทย์ไม่ทันอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เสียชีวิตคือการเพิกเฉยต่ออาการหรือสัญญาณ
เตือนของร่างกาย เช่น ตาพร่ามัว ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดลำบาก ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ
ทำให้คนส่วนมากปล่อยหรือมองข้ามไป”
ไม่ควรเพิกเฉยหากมีอาการในข้อหนึ่งข้อใดดังต่อไปนี้ มีอาการชาหรืออ่อนแรงของแขนขาหรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง
ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็น พูดลำบาก พูดไม่ได้ หรือไม่เข้าใจคำพูด ปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
มีอาการมึนงง หรือเดินไม่มั่นคง เสียศูนย์ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองทั้งสิ้น
สำหรับการรักษาให้ได้ผลดีขึ้นอยู่กับ เวลา โดยควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะยิ่งรักษาเร็วมากเท่าไร
จะยิ่งมีโอกาสหายเป็นปกติได้มาก และผลแทรกซ้อนต่ำ นอกจากนี้ความพร้อมของเทคโนโลยีในการรักษา
โดยใช้อุปกรณ์หรือเทคนิคที่เหมาะสมและยาที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เป็นปัจจัยที่สำคัญของผลการรักษาด้วยเช่นกัน
เรื่องการดูแลมีความสำคัญมากในการป้องกันไม่ให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาต โดยโรคนี้สามารถป้องกันได้ถึงร้อยละ 80
มีข้อปฏิบัติ คือ การรักษาและควบคุมปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน การงดสูบบุหรี่
การป้องกันการกลับเป็นซ้ำด้วยการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด การลดอาหารไขมัน
โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว อาหารเค็ม กินผักและผลไม้ให้มาก จำกัดการดื่มสุรา เบียร์ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
และที่สำคัญ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ดังคำกล่าว
“อัมพฤกษ์ อัมพาต ตระหนักลดเสี่ยง เลี่ยงได้”
ที่มา : รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล