การกิน พฤติกรรมที่คุณต้องทำทุกวัน ใช่หรือไม่ ? • อาหารเช้าที่ว่าดี คุณให้ความสำคัญ แค่ไหน ?
• อาหาร “หวาน มัน เค็ม รสจัด” ถูกปากนักแล ใช่หรือไม่ ?
• ห้ามปาก ห้ามใจ เรื่องไม่ง่าย แต่ควรทำ
• “พฤติกรรม” เปลี่ยนได้ ถ้า เริ่มต้น และ ลงมือทำ
หากใช่ : สุขภาพของคุณ อยู่ในกำมือคุณ
และคุณ เลือกกิน ให้ ห่างไกลโรค ได้
You are what you eat :
คุณเป็นอย่างที่คุณกิน หรืออีกนัยหนึ่ง สุขภาพของเราจะดีหรือไม่อย่างไรขึ้นอยู่กับอาหารที่เรากิน รวมทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเจ็บป่วยหรือโรคหลายโรค เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดัน หัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดสมอง มะเร็ง โรคไต ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นโรคที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก “การกินที่ไม่ถูกต้อง”
ดังนั้น พฤติกรรม “การกินอาหาร” ในวิถีประจำวันของแต่ละคน ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หรือทำเพียงแค่ “กินให้หายหิว” หรือ “กินตามใจปาก” ซึ่งถ้ามีพฤติกรรมที่คุ้นชินอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเดินไปสู่เส้นทางความเจ็บป่วยจากการเป็นโรคใดโรคหนึ่ง เมื่อนั้นก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมาดูแลเรื่องอาหารการกินมากขึ้น และมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตมากมายโดยที่เราไม่พึงใจอย่างแน่นอน
สวรส. เชิญชวน..ปฏิวัติตัวเอง กับ แค่ “ปรับ” ชีวิตก็ “เปลี่ยน” ปรับความคุ้นชินเดิมๆ สู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น• กินดีได้ดี : 9 ข้อ สู่การกินดี ห่างไกลโรคปัญหาโภชนาการของคนไทย เกิดจากหลากหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในสาเหตุที่สำคัญคือ คนไทยส่วนมากยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ถูกต้อง ทำให้ขาดความรู้และเจตคติที่ดีต่อการกินอาหารที่นำไปสู่การมีภาวะโภชนาการและสุขอนามัยที่ดี ตามโภชนบัญญัติ 9 ข้อ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย
1. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย และหมั่นดูแลน้ำหนักตัวพยายามกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และกินแต่ละหมู่ให้มีความหลากหลาย ไม่จำเจอยู่เพียงอาหารไม่กี่ชนิด เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่างๆ ครบในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ
ง่ายถึงภาวะสุขภาพ ในผู้ใหญ่ที่กินอาหารได้เหมาะสม จะมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม มีรูปร่างที่ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป และมีน้ำหนักตัวค่อนข้างคงที่ หากสังเกตเห็นว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากน้ำหนักปกติ แสดงให้เห็นว่าเริ่มกินอาหารมากเกินไปแล้ว ควรต้องหันมาควบคุมหรือลดปริมาณให้น้อยลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดัน มะเร็งบางชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ ทำได้โดยการกินอาหารให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ประมาณ 20-30 นาที/ครั้ง (สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง) ดังนั้น จึงควรหมั่นชั่งน้ำหนักตัวเป็นระยะ อย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อการดูแลสุขภาพและรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ2. กินข้าวเป็นอาหารหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อข้าว เป็นอาหารหลักของคนไทย เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญในการให้พลังงาน สารอาหารที่มีมากในข้าว ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน โดยเฉพาะข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือ ซึ่งเป็นข้าวที่ขัดสีน้อย และเป็นข้าวที่มีประโยชน์มากกว่าข้าวที่ขัดสีจนขาว ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ควรเลือกกินข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ เพราะมีวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีนและใยอาหารมากกว่าข้าวที่ขัดสีจนขาว ส่วนอาหารแป้ง เช่น ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ให้กินเป็นบางมื้อ อาหารแป้งเป็นอาหารที่ผ่านการแปรรูป ใยอาหารจะมีน้อยกว่าในข้าว แต่เหนือสิ่งอื่นใดการกินหารแต่ละประเภทก็ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะถ้ากินข้าวและแป้งมากเกินความต้องการ สิ่งเหล่านั้นก็จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมัน เก็บไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เกิดโรคอ้วนได้ 3. กินพืชผักให้มาก และกินผลไม้เป็นประจำพืชผักและผลไม้ เป็นแหล่งสำคัญของวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งสารอื่นๆ เช่น สารแอนติออกซิแดนท์ที่ช่วยไม่ให้อนุมูลอิสระทำลายเนื้อเยื่อและผนังเซลล์ ช่วยชะลอการเสื่อมสลายของเซลล์ ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ดูสดใส ไม่แก่เกินวัย นอกจากนี้ใยอาหารที่ได้จากการกินผักและผลไม้ยังช่วยในการขับถ่าย พร้อมนำโคเลสเตอรอลและสารพิษที่ก่อโรคมะเร็งบางชนิดออกจากร่างกาย ทำให้ลดการสะสมของสารเหล่านั้น ผักและผลไม้หลายอย่างให้พลังงานต่ำ ดังนั้นหากกินให้หลากหลายและเป็นประจำจะไม่ทำให้เกิดโรคอ้วน และไขมันอุดตันในเส้นเลือด
ประเทศไทยมีผักและผลไม้ตลอดทั้งปี สามารถเลือกหามาบริโภคกันได้ทุกฤดูกาล ดังนั้นจึงควรสร้างพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ให้เกิดขึ้นกับทุกคน และทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นที่ร่างกายต้องการวิตามินและแร่ธาตุ เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและเสริมสร้างให้ร่างกายทุกระบบทำงานได้เป็นปกติ 4. กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่และถั่วเมล็ดแห้ง เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี โปรตีนเป็นสารอาหารที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับอย่างเพียงพอ ทั้งคุณภาพและปริมาณ เพื่อนำไปเสริมสร้างร่างกายให้เจริญเติบโต และซ่อมแซมเนื้อเยื่อซึ่งเสื่อมสลายให้อยู่ในสภาพปกติ
ปลา : เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดี ย่อยง่าย มีไขมันต่ำ หากกินปลาแทนเนื้อสัตว์เป็นประจำ จะช่วยลดปริมาณไขมันในโลหิต เนื้อปลามีฟอสฟอรัสและไอโอดีน ทำให้กระดูกแข็งแรง และป้องกันไม่ให้เป็นโรคขาดสารไอโอดีน
เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน : การกินเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน จะช่วยลดการสะสมไขมันในร่างกาย
ไข่ : เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง มีแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็น ไข่หาซื้อง่าย ปรุงและกินง่าย เด็กควรกินวันละฟอง ผู้ใหญ่ภาวะปกติควรกินสัปดาห์ละ 2-3 ฟอง ส่วนคนที่มีปัญหาภาวะโคเลสเตอรอลสูงควรลดปริมาณลง
ถั่วเมล็ดแห้ง : เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดี หาง่าย ราคาถูกและมีหลากหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลิสง เป็นต้น หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเมล็ดแห้ง เช่น เต้าหู้ เต้าเจี้ยว น้ำนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ ฯลฯ
5. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัยน้ำนม เป็นอาหารที่มีประโยชน์ และเป็นแหล่งอาหารที่ประกอบไปด้วยแร่ธาตุที่สำคัญคือ แคลเซียม ฟอสฟอรัส นอกจากนั้นยังมีโปรตีน วิตามินบี 2 น้ำตาลแลคโตส ช่วยให้ร่ากายเจริญเติบโต จึงเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับคนทุกวัย สำหรับกรณีที่ห่วงว่า การดื่มนมมากๆ อาจทำให้อ้วนได้ เราก็สามารถเลือกดื่มนมพร่องไขมันได้ และในเวลาเดียวกันควรควบคุมปริมาณไขมันในอาหารชนิดอื่นด้วย เพราะเพียงไขมันจากนมอย่างเดียวไม่น่าที่จะทำให้เกิดโรคอ้วนปริมาณการดื่มนมที่แนะนำ คือ เด็ก 1-2 แก้วต่อวัน ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ 1 แก้วต่อวัน และก่อนซื้อนมทุกครั้ง ควรสังเกต วัน เดือน ปี ที่ข้างกล่องว่าหมดอายุหรือไม่ รวมทั้งควรเลือกเฉพาะนมที่บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท
6. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควรถึงแม้ไขมันจะเกี่ยวข้องกับปัญหาโภชนาการ เช่น โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูงที่นำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดได้ แต่ร่างกายก็ต้องการไขมันเพื่อสุขภาพด้วยเช่นกัน เพียงแต่จะต้องควบคุมปริมาณและชนิดของไขมันที่จะบริโภคให้เหมาะสม ลดอาหารที่มีไขมันมาก เช่น หมูสามชั้น ขาหมูพะโล้ และอาหารที่ใช้น้ำมันจำนวนมากในการประกอบอาหาร เช่น อาหารทอด ผัด และอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ถือว่าเป็นอาหารที่มีไขมันสูง จึงควรกินในปริมาณที่เหมาะสม 7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัดและเค็มจัดส่วนประกอบสำคัญของอาหารรสหวานจัดและเค็มจัด ได้แก่ น้ำตาล และเกลือ ซึ่งส่วนประกอบทั้ง 2 ชนิดเมื่อบริโภคมากเกินไป จะเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคอ้วน และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งวิธีปฏิบัตินอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัดและเค็มจัดแล้ว เราควรพยายามรับประทานอาหารที่มีรสธรรมดา หรือปรุงรสชาติเพิ่มเติมให้น้อยที่สุด
8. กินอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อนการกินอาหารที่สะอาดนับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยลดอันตรายจากสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ซึ่งอาจเป็นเชื้อโรค พยาธิ สารพิษ สิ่งแปลกปลอมต่างๆ และควรเลือกซื้ออาหารจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ มีการผลิตที่ถูกต้อง มีการเก็บรักษาที่เหมาะสม อาหารสำเร็จรูปควรบรรจุในภาชนะที่เหมาะสม สะอาด มีฉลากที่ถูกต้อง บอกวันหมดอายุ ส่วนประกอบ ชื่ออาหาร สถานที่ผลิต นอกจากนี้ควรมีสุขนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหาร เช่น การล้างมือก่อนรับประทานอาหาร การใช้ช้อนกลาง หรือใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารมากกว่าการใช้มือ
9. งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เมื่อดื่มมาก จะมีผลทำให้การทำงานของระบบสมองและประสาทช้าลง ทำให้เกิดการขาดสติได้ง่าย และนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคตับแข็งและการขาดสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด ดังนั้นควรลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเอกสารอ้างอิงกรมอนามัย กระทรงสาธารณสุข. 2541. ข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย. โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก. กรุงเทพฯ
แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ. 2555. กินฉลาด ปราศจากโรค. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ต.ค. 2555
แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ. 2556. กินฉลาด ปราศจากโรค. ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 ม.ค. 2556
แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ. 2556. กินฉลาด ปราศจากโรค. ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 พ.ค. 2556
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ. 2548. อาหารและน้ำ ความอยู่รอดและความสุขที่ยั่งยืน. วี ทู อาร์ สตาร์ดัสท์. กรุงเทพฯ