-/> #รอลงอาญาหมายถึงอะไร ?

หน้า: [1]   ลงล่าง
 
ผู้เขียน หัวข้อ: #รอลงอาญาหมายถึงอะไร ?  (อ่าน 1941 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ดูแลเรื่องกฏหมายของเว็บ
คะแนนน้ำใจ 1010
กระทู้: 130
ออฟไลน์ ออฟไลน์
อีเมล์
   
« เมื่อ: 24 กันยายน 2560, 02:52:55 PM »

Permalink: #รอลงอาญาหมายถึงอะไร ?
#รอลงอาญาหมายถึงอะไร ?

#มาทำความเข้าใจการรอลงอาญาแบบเข้าใจได้เมื่ออ่านจบกันครับ

" การรอลงอาญา คือการที่ศาลพิจารณาพิพากษาตัดสินแล้วว่าจำเลยกระทำผิดจริง แต่มีเหตุที่ศาลเห็นว่าการปล่อยตัวจำเลยไปจะเป็นประโยชน์มากกว่าการลงโทษจำคุก"

-----------------------------------

#โดยการรอลงอาญา
หรือที่ตามกฎหมายใช้คำว่า การรอการลงโทษ 
มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา56

โดยสรุปใจความสำคัญ คือ
 
การที่ศาลพิพากษา ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง
โดยความผิดนั้น ศาลลงโทษจำคุกไม่เกิน5ปี
และสืบเนื่องจาก จำเลยไม่เคยติดคุกมาก่อน
ในความผิดทางอาญาหรือเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน
แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
หรือความผิดลหุโทษ

และเมื่อศาลคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา
การศึกษา อบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม
 สภาพความผิด การรู้สึกผิด และการพยายามเยียวยา
บรรเทาผลร้ายที่ได้กระทำลงไป และเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว

เห็นว่าน่าจะให้โอกาสจำเลยกลับตัวกลับใจ
ภายในระยะเวลาที่กำหนด

 
ศาลก็อาจเลือกให้ รอการลงโทษ  คือมีการกำหนดโทษไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ลงโทษ แล้วทำการปล่อยตัวจำเลยไป

-----------------------------------

#สิ่งที่ผมอยากเสนอให้ทุกท่านได้รับรู้
และเป็นสิ่งที่หลายท่านสงสัย คือ

แล้วอะไรคือสิ่งที่ศาลนำมาประกอบในการใช้ดุลพินิจในการรอการลงโทษจำคุกแทนที่จะเลือกลงโทษจำคุกให้จำเลยได้เข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำ ?

1. #อายุ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี วุฒิภาวะ

เช่น ผู้กระทำผิดเป็นเด็ก เป็นเยาวชน
หรือเป็นคนที่แก่ชรามาก สติปัญญาอาจจะเสื่อมลง
นอกจากนั้น คนที่อายุมากและเพิ่งกระทำผิดครั้งแรก
ย่อมแสดงได้ว่าประพฤติตนเป็นคนดีมาก่อนเป็นเวลานาน
เมื่อผิดพลาดขึ้นก็ควรให้โอกาสกลับตนได้

2. #ประวัติของผู้กระทำผิด

คือประวัติหรือภูมิหลังของผู้กระทำผิด
บุคคลที่มีประวัติคุณงามความดีมาก่อนย่อมเป็นเหตุ
ให้ศาลรอลงอาญาได้ อาทิ ประวัติการศึกษา ประวัติ
หน้าที่การงาน เป็นผู้ประพฤติดีอยู่ในศีลธรรม
เป็นผู้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม แต่ประวัติดียังรวมถึง
สาเหตุแห่งการกระทำผิด เช่นความยากจนข้นแค้น
ความจำเป็นที่บีบบังคับให้กระทำ

3. #ความประพฤติของผู้กระทำความผิด

การปฏิบัติที่อยู่ในศีลธรรมเป็นคนดีของสังคม
ตั้งแต่ก่อนกระทำผิดจนถึงวันที่ศาลพิจารณา

4. #สติปัญญาของผู้กระทำผิด

เช่น กระทำผิดไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ความโง่เขลาเบาปัญญา มีความเชื่องมงาย
ในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ หรือหลงเข้าใจผิดว่าการกระทำ
เช่นนั้นไม่เป็นความผิด

5. #ผู้กระทำผิดที่มีการศึกษา

การศึกษาอบรมของตัวผู้กระทำผิดจากโรงเรียน
อบรมจากบิดามารดา ศาลอาจจะให้โอกาส
เช่น กำลังศึกษา เพื่อให้โอกาสเป็นพลเมืองดีต่อไป
หากได้รับโทษจำคุกจะไม่ได้ศึกษาต่อ
และจะเสียอนาคตอันดีงาม

6. #ผู้มีร่างกายพิการหรือสุขภาพไม่สมบูรณ์

เช่น เจ็บป่วยมีโรคประจำตัว อาจกระทำผิดได้
เนื่องจากอาจเกิดอาการหงุดหงิดโมโหง่าย
หรือไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และรวมถึง
อาจคิดว่าตนเองมีปมด้อย จึงอยากแสดงให้ผู้อื่นเห็น
ถึงความสามารถตน แต่กลับแสดงออกในทางที่ผิด

7. #ภาวะแห่งจิตของผู้กระทำผิด

เช่น มีจิตบกพร่อง จิตฟั่นเฟือน

8. #นิสัยของผู้กระทำความผิด

ความประพฤติของผู้กระทำความผิดที่ปฏิบัติจนเคยชิน
อยู่ทุกๆวัน เช่น มีนิสัยขยันในการประกอบอาชีพ
มีความเคารพต่อสิทธิของผู้อื่น มีนิสัยอ่อนน้อม

9. #อาชีพ

ผู้กระทำผิดมีอาชีพการงานเป็นกิจจะลักษณะ
หรือประกอบอาชีพโดยสุจริต มีฐานะยากจน
ต้องประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว

10. #สิ่งแวดล้อมของผู้กระทำความผิด

อาจเป็นสาเหตุแห่งการกระทำความผิดได้
เช่น ผู้กระทำความผิดต้องทำงานในแหล่งอบายมุข
หรือพักอาศัยในย่านชุมชนแออัด ซึ่งมักมีการกระทำผิด
ต่างๆเสมอ ซึ่งศาลคำนึงว่าหากให้โอกาสผู้กระทำผิดแล้ว
เมื่อผู้กระทำผิดกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมแล้ว
จะปรับปรุงแกไขตัวเองได้หรือไม่

11. #สภาพความผิด

การกระทำผิดซึ่งประกอบด้วยพฤติการณ์และมูลเหตุที่เกิด
การกระทำความผิด ซึ่งหากไม่มีมูลเหตุจูงใจ
ก็จะไม่กระทำความผิดนั้น

12. #เหตุอันควรปรานี

คือ เหตุนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมานั้น
เช่นผู้กระทำผิดเป็นหญิง ถูกข่มเหงรังแก

หรือผู้กระทำผิดได้พยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด
โดยการชดใช้ค่าเสียหาย หรือผู้กระทำผิดป่วยเจ็บ
ไม่อาจประกอบอาชีพได้ มีภาระต้องอุปการะครอบครัว

หรือกระทำความผิดเพราะตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส กระทำผิดเพราะต้องเอาเงินไปซื้ออาหารให้บุตร
เอาเงินไปรักษาบิดามารดา

หรือผู้กระทำความผิดลหุโทษได้มอบตัวต่อเจ้าพนักงาน
โดยเข้ามอบตัว หรือให้การรับสารภาพว่าได้ระทำความผิดจริง

--------------------------------------

#เหตุผลที่ศาลเลือกที่จะรอการลงโทษจำเลย

1. การจำคุกผู้กระทำความผิดในระยะสั้นๆไม่เกิน5ปี
อาจส่งผลเสียมากว่าผลดี เพราะจะทำให้ซึมซับหรือรับการถ่ายทอดเอาอุปนิสัยไม่ดีมา แทนที่จะได้รับการแก้ไขฟื้นฟู จึงควรให้โอกาสให้อยู่ในสังคมต่อไป ได้มีงานทำ ลดการต่อต้านจากสังคม

2. ได้มีโอกาสกลับไปอยู่กับครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้กระทำผิดเป็นหัวหน้าครอบครัว ก็จะทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน

3. ให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองที่ดีในภายหน้า

4. ยับยั้งตนเองมิให้กระทำความผิดใหม่อีก

5.ลดการแออัดของนักโทษในเรือนจำ

6. ลดค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลนักโทษ

7. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้มีโอกาส ชดใช้ ทดแทน ดูแลเอาใจใส่แก่เหยื่อหรือผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบอันเกิดจากการกระทำของตน

8. การรอการลงโทษทำให้ศาลได้มีโอกาสใช้ดุลพินิจ เนื่องจากการรอการลงโทษเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างจำคุกกับการไม่จำคุกว่าควรใช้วิธีไหน

9. เป็นการให้โอกาสได้แก้ไขฟื้นฟูตนเอง ให้กลับคืนสู่ครอบครัว สังคม ทำให้เกิดความหลากหลายในการลงโทษที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง

#ส่วนที่เป็นข้อเสีย

1. ผู้กระทำความผิดอาจไม่เข็ดหลาบในการกระทำผิด
อาจกระทำผิดอีก

2. ทำให้ผู้เสียหายเกิดความไม่พอใจที่ผู้กระทำผิด
ไม่ได้รับโทษในเรือนจำ

-------------------------------------

#โดยผมขอให้ข้อสังเกตว่าความผิดที่มักจะได้รับการรอการลงโทษ

เช่น การกระทำโดยประมาท เพราะไม่ถือว่าผู้นั้นมีจิตใจชั่วร้าย เพราะเป็นการกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง  จึงไม่ถือว่าผู้กระทำมีนิสัยชั่วร้ายจนกลับตัวไม่ได้

-------------------------------------

#หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านครับ
#อ้างอิงจากหนังสือรอการลงโทษภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ดร.สุเนติ คงเทพ
#คำอธิบายกฎหมายอาญาภาค1 ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์
#เนตินรา
บันทึกการเข้า

ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ปล่อยวางบ้าง
หน้า: [1]   ขึ้นบน
 
 
กระโดดไป: