
** ต้อหินจากเบาหวาน **
ผู้ที่เป็นเบาหวานทราบหรือไม่ว่า จะเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว
และถ้าไม่ได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ อาจมีโอกาสตาบอดถาวรได้
รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว ว่า
ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน และไม่เคยรับการตรวจจอประสาทตาจากจักษุแพทย์ อาจเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตาได้
เนื่องจากเบาหวานทำให้เส้นเลือดที่จอตาผิดปกติทีละน้อยๆ จนจอตาบวม มีเลือดออกที่จอตา หรือวุ้นตา
ส่งผลให้เกิดอาการตามัวและอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางตา เช่น ต้อหินได้
ซึ่งอันตรายอยู่ที่เส้นประสาทตาจะถูกทำลาย โดยความดันลูกตาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากที่สุด
ซึ่งความดันลูกตาจะถูกควบคุมด้วยระบบไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตา
หากภาวะสมดุลระหว่างการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงและการ ระบายน้ำออกจากลูกตาเสียไป
จะทำให้ความดันลูกตาสูง เกิดภาวะต้อหิน ซึ่งในระยะแรกอาจไม่พบความผิดปกติใดๆ ต่อมาตาจะค่อยๆ มัวลง
และยิ่งเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่มีเบาหวานขึ้นตาด้วยแล้ว
หากปล่อยทิ้งไว้จนมีภาวะต้อหินแทรกซ้อนก็จะตามัวมากขึ้น ปวดตา ตาแดง และอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด
อย่างไรก็ดี การวินิจฉัยภาวะต้อหินจากเบาหวาน จะเริ่มจากวัดการมองเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่
ตรวจวัด ความดันลูกตา ซึ่งเป็นการตรวจที่สำคัญมากในการวินิจฉัยต้อหิน รวมถึงตรวจจอตาและขั้วประสาทตา
ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการเป็นต้อหิน
จะว่าไปแล้ว การรักษาต้อหินจากเบาหวานไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา ฉายแสงเลเซอร์ หรือแม้กระทั่งการผ่าตัด
มักไม่ค่อยได้ผลเป็นแค่เพียงบรรเทาอาการไม่สามารถแก้ไขให้สายตากลับมาเป็น ปกติได้
แต่สามารถยับยั้งไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เบาหวานขึ้นจอตา
โดยผู้ป่วยเบาหวานจะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมค่าความดันลูกตาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
รวมถึงรับการตรวจจอตาโดยจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปี
(ที่มา : โดย น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)