
โรคเอ็มดีเอส (MDS) คืออะไร
ผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล อาจารย์สาขาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
เปิดเผยว่าโรคเอ็มดีเอส หรือชื่อเต็มคือ “ไมอีโลดิสพลาสติกซินโดรม" (Myelodysplastic Syndrome)
เป็นกลุ่มอาการของโรคที่คนไทยต้องระวัง โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูกที่พบในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
โดยผู้ป่วยโรค MDS จะมีความผิดปกติของไขกระดูก (แหล่งผลิตเม็ดเลือดของร่างกาย)
ทำให้ไขกระดูกไม่สามารถทำหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้เพียงพอ
จนเกิดภาวะโลหิตจาง ติดเชื้อง่าย มีจ้ำเลือดผิดปกติ
ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอ็มดีเอสประมาณ 87,000 รายจากทั่วโลก
สำหรับในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอ็มดี เอสประมาณ 10,000-20,000 รายต่อปี
สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่ทราบอุบัติการณ์ที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะพบอยู่ในอันดับต้นๆ ของโรคทางโลหิตวิทยา
อาการของโรคเอ็มดีเอส
ลักษณะ อาการที่แสดงของโรค เอ็มดีเอสผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจไม่แสดงอาการเมื่อแพทย์วินิจฉัยในครั้งแรก
เพียงแค่ผลการตรวจโรคพบว่ามีความผิดปกติ ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง อ่อนเพลีย ใจสั่น ปวดศีรษะ หงุดหงิด
ผิวหนังซีด มีจ้ำเลือดง่าย เลือดออกมาก เป็นไข้ หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นผลมาจากจำนวนเม็ดเลือดที่ลดน้อยลง

โรคเอ็มดีเอสอันตรายอย่างไร
ใน ประเทศไทยนั้น ผู้ป่วยโรคเอ็มดีเอสส่วนใหญ่เกิดจากอาการผิดปกติของเซลล์ไขกระดูก
และชนิดของความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ซึ่งผู้ป่วยบางรายสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 15 ปี
แต่ผู้ป่วยบางรายอาจป่วยโดยมีอาการรุนแรง มีชีวิตอยู่ได้เพียง 6 เดือนเท่านั้นหลังจากวันที่ได้รับการวินิจฉัยโรค
โรคเอ็มดีเอสไม่ ใช่โรคติดต่อและไม่ส่งต่อไปยังบุคคลในครอบครัว แต่จำนวน 30% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคเอ็มดีเอส
จะพัฒนาเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (Acute Leukemia) ได้
แนวทางรักษา
โรคเอ็มดีเอสหากเป็นระยะแรกจะรักษาด้วยวิธีการให้เลือด แต่การให้เลือดแต่ละครั้งจะมีผลต่อสภาวะเหล็กในร่างกาย
ทำให้มีการสะสมของธาตุเหล็กใน ตับ หัวใจ และอวัยวะอื่นๆ จึงจำเป็นต้องใช้ยาขับเหล็กควบคู่ไปกับการให้เลือด
เพื่อกำจัดเหล็กที่มีปริมาณมากเกินไปออกจากร่างกาย ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะลุกลามจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่จริงจังมากขึ้น
อาจต้องใช้ยาเคมีบำบัดหรือการปลูกถ่ายไขกระดูกร่วมด้วย
ที่สำคัญ อีกประการหนึ่งของการดูแลคนไข้เอ็มดีเอสคือการให้กำลังใจผู้ป่วยเอ็มดีเอส
ซึ่งเป็นการช่วยป้องกันและรักษาปัญหาทางร่างกาย อารมณ์และจิตใจ อันเนื่องมาจากภาวะของโรคนี้ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : momypedia.com