ยังคงเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่อง กับการเสนอชุดกฎหมายดิจิทัล 10 ฉบับของรัฐบาล ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย แต่เนื้อในกลับกลายเป็นกฎหมายทางความมั่นคง มีเนื้อหาละเมิดสิทธิ จำกัดเสรีภาพของประชาชนหลายประเด็น
วานนี้ (27 ม.ค.)
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดโครงการเวทีเสวนาสาธารณะ เกาะติดการปฏิรูปสื่อ ครั้งที่ 1 เรื่อง ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลกับการปฏิรูปสื่อ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนร่วมแสดงความคิดเห็น และมีผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงสื่อทั้งกระแสหลัก ออนไลน์ และอิเล็กทรอนิกส์ เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ชุดร่างกฎหมายดิจิทัล 10 ฉบับมีความเชื่อมโยงกับการปฏิรูปสื่อด้วย ฉะนั้นต้องถามกลับว่าการออกกฎหมายลักษณะนี้ตอบโจทย์การปฏิรูปสื่ออย่างไร ถ้าชุดกฎหมายนี้เป็นช่องทางที่นำไปสู่การปฏิรูป ก็ต้องตีโจทย์ให้แตก
อีกคำถามที่สำคัญก็คือ โครงสร้างใหม่ของร่างกฎหมายที่เสนอเป็นองคาพยพและรูปแบบเดิม แล้วจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้อย่างไร
ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2540 มีความพยายามแยกองค์กรกำกับดูแลสื่อ เพื่อไม่ให้การจัดสรรคลื่นความถี่อยู่แค่ในองค์กรรัฐ จึงมีองค์กรอิสระที่ดูแลเฉพาะขึ้นมา แต่ขณะนี้ที่มีการเสนอชุดร่างกฎหมายใหม่ มีการเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่จริงๆ แล้วบางส่วนเป็นแค่นำกฎหมายเดิมมาปรับใหม่ และเป็นกฎหมายเก่าที่ยังไม่เคยผ่านออกมาบังคับใช้เลยก็มี แต่จัดทำไว้นานแล้ว เช่น ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นกฎหมายที่ค้างมานานมาก
นอกจากนั้นยังมีกฎหมายแถมมาอีกหนึ่งฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุและอันตราย ซึ่งจริงๆ เป็นกฎหมายที่ไม่เลว แต่ลักษณะการให้คำจำกัดความต่างๆ เช่น ความวิปริตทางเพศ ในแง่ของการตีความมันตีความลำบาก และชีวิตประชาชนสมัยนี้เกี่ยวพันกับคอมพิวเตอร์อย่างมาก ทำให้เกิดคำถามว่าเราอาจกลายเป็นอาชญากรไปโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ หากตีความบางเรื่องตามร่างกฎหมายใหม่ที่เสนอออกมา นักวิชาการด้านสื่อจากจุฬาฯ ระบุ
ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวต่อไปว่า ปัญหาการใช้กฎหมายของประเทศไทยนั้น คือการที่มุ่งใช้การตีความกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบ และสุ่มเสี่ยงที่คนทั่วไปจะกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป อย่างอำนาจในการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
ที่สำคัญในส่วนของการยกร่างกฎหมายที่เตรียมไว้รองรับการตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (เศรษฐกิจดิจิทัล) ถือเป็นเรื่องน่าห่วงมาก เพราะในความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อของกระทรวงไอซีที (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) เท่านั้นเอง และที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าหน้าที่ของไอซีทีไม่ได้มีมากมาย หรือแทบไม่มีผลงานใดๆ เลยก็ว่าได้ นอกจากหน้าที่การสั่งปิดเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายเท่านั้นเอง
โครงสร้างของกระทรวงดิจิทัลฯในชุดกฎหมายใหม่ คือการปรับปรุงโครงสร้างที่ยังใช้หน่วยงานหรือรูปแบบเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่ากระทรวงไอซีทียังไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะขับเคลื่อนงานได้ ถ้าจัดสรรลำดับกระทรวงนี้ คงจะได้เพียงเกรดซีลบ
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอตั้ง
สํานักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ
ซิป้า ให้ดูแลการส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ที่ผ่านมา
ซิป้าก็ไม่เคยทำงานเอง มีแต่เรียกใช้บริการจ้างทีมงานรับจ้างเข้ามารับงานออกไปทำ จึงไม่เข้าใจว่าจะสามารถขับเคลื่อนงานที่จะได้รับมอบหมายให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างไร
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากที่ได้ศึกษาชุดร่างกฎหมายดิจิทัล มีคำถามว่าเมื่อเรามีกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐมากๆ เข้าไปแทรกแซงในกิจกรรมของประชาชนในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ สุดท้ายจะตอบโจทย์ของรัฐบาลจริงหรือไม่ คนในรัฐบาลก็ให้สัมภาษณ์ขัดกันไปมา
มีแหล่งข่าวพูดถึงความเห็นของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาเปิดประเด็นเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ว่าไม่สบายใจ โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อยากให้ชะลอไว้ก่อน แต่อีกวัน คุณพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ให้สัมภาษณ์สวนว่าจะเดินหน้าต่อไป จึงทำให้มีความสับสนว่ามีการพูดคุยกันหรือเปล่า
เท่าที่ทราบเหมือนกับว่าก่อนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ไม่รู้เรื่อง ทั้งที่เขาเป็นรองนายกฯที่พูดเรื่องนี้ ทำให้เห็นว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ได้ผ่านระบบกลั่นกรองก่อนเข้าสู่ ครม. ทั้งๆ ที่คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยเขียนออกมาเป็นหนังสือถึงลำดับการเสนอกฎหมายเข้า ครม.ว่า ถ้าเป็นการเสนอจากกระทรวงต้องผ่านการลงประชามติ รับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมด แต่ชุดร่างกฎหมายนี้เข้า ครม.เลย รัฐมนตรีที่คุมด้านนี้ก็ไม่เคยเห็นเนื้อหากฎหมายมาก่อน
นายประสงค์ กล่าวด้วยว่า ก่อนจะพูดว่าร่างกฎหมายชุดนี้ดีหรือไม่ดี สิ่งที่เห็นชัดเจนคือการกลั่นกรองของ ครม.ไม่ดี เนื่องจากเป็นชุดกฎหมายที่รีบเร่งมาก อ้างความมั่นคง อ้างเป็นรัฐบาลทหาร ทุกอย่างจึงผ่านเข้า ครม.ได้ พอผ่านเสร็จก็ไปตายเอาดาบหน้า พอนักข่าวไปถามนายกฯก็โมโห
นายกฯยัวะ บอกว่าผ่านกรรมาธิการ ผมก็งงว่าผ่านกรรมาธิการอะไร ไม่เข้าใจว่าใครงงกันแน่ระหว่างนักข่าวกับนายกฯ ทำให้เห็นว่าการเสนอร่างกฎหมายต่างๆ เข้า ครม.ไม่มีระบบ รองนายกฯกับที่ปรึกษานายกฯขัดกันเอง นายประสงค์ กล่าวทิ้งท้าย