ผู้บริหารเว็บ
คะแนนน้ำใจ 65535
กระทู้: 18,129
ออฟไลน์
"สาวหวาน กับ ความฝันไม่รู้จบ "
|
 |
« เมื่อ: 09 พฤษภาคม 2557, 08:49:39 AM » |
|
Permalink: “อินเทอร์เน็ตลิซึม!” อาการเสพติด ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ
  “อาการเสพติด” ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ โจ๋ 18 คลั่งเกมออนไลน์ ลากแท็กซี่เป็นเหยื่อซ้อมมือ สาวสวิสโดนไล่ออกจาก งาน เพราะถูกจับได้ว่าเล่นเฟซบุ๊กระหว่างลาป่วย เด็กสเปนติดมือถือหนัก ไม่กิน ไม่นอน ไม่เรียน ถูกส่งบำบัดด่วน ตัวอย่างดังกล่าวไม่ใช่แค่พาดหัวสนุกๆ ปลุกเร้าความสนใจ แต่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์จริง ที่เกิดขึ้นแทบ ทุกมุมโลก และเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซ้ำร้ายบางคนยังอาจตกเป็นเหยื่อของมันโดยไม่รู้ตัว ภัยเงียบแสนร้ายกาจนี้มีชื่อเรียกว่า อาการเสพติดอย่างอ่อนๆ! (Soft Addictions) เราเสพติดอะไรกันบ้าง แทบไม่น่าเชื่อว่า ทุกกิจกรรมที่เราทำในแต่ละวันตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนกระทั่งถึงเวลานอนหลับพักผ่อนอีกครั้งหนึ่ง เช่น ดื่มกาแฟ กินอาหารฟาสต์ฟู้ด ช็อปปิ้ง ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง คุยโทรศัพท์ เล่นอินเทอร์เน็ต หรือพฤติกรรมการแสดงออกบางอย่าง เช่น ไม่ตรงต่อเวลา ผัดวันประกันพรุ่ง ขี้เมาท์ ช่างประชดประชัน เหน็บแนม แม้แต่กิจกรรมเฉพาะกิจอย่างการทำศัลยกรรม
ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนสามารถพัฒนาเป็น “อาการเสพติด” ได้โดยไม่ยาก เมื่อใดก็ตามที่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่แค่ “Do” แต่เป็น “Overdo” หรือเป็นการกระทำที่มากเกินกว่าปกต ิซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตทั้งของเจ้าตัวเองรวมไปถึงผู้คนรอบข้าง
ที่สำคัญคือ กว่าจะรู้ตัวว่าเริ่มเสพติดสิ่งเหล่านี้เข้าให้แล้วแต่ละรายก็ต้องใช้เวลานานพอดู เพราะแทบทุกคน มักคิดว่ากิจกรรมและพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เป็นอันตราย ไม่ผิดแปลกจากสังคม ไม่ผิดกฎหมาย ทำได้โดยเสรี ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนกับการเสพสิ่งเสพติดต้องห้าม
ทว่าในความเป็นจริงนั้น ดอกเตอร์จูดิท ไรท์ (Dr. Judith Wright) เจ้าของผลงาน The Soft Addiction Solution หนังสือขายดีในสหรัฐอเมริกา นักพูดสร้างแรงบันดาลใจชื่อดัง และผู้ก่อตั้ง Wright Graduate Institute (Philosophy & Misson) สถาบันพัฒนาทางศักยภาพมนุษย์ เผยว่า
หากนำความรู้สึกที่เกิดขึ้นยามทำกิจกรรม หรือแสดงพฤติกรรมเสพติดเหล่านี้เปรียบเทียบกับการติดสิ่งเสพติดจริงๆ เราจะพบว่าความรู้สึกเสพติดที่เกิดขึ้นนั้น “แทบไม่ต่างกันเลย” เพราะทำให้เราหลุดพ้นหรือหมดความ สนใจต่อกิจกรรมรอบข้าง ทั้งยังไร้ความรู้สึกต่ออารมณ์อื่นๆ เช่น ความเครียด ความหดหู่ ซึมเศร้า ณ เวลานั้น ได้โดยสิ้นเชิงเหมือนกัน
ถึงตรงนี้ลองมาสำรวจตัวเองดูไหมว่า “คุณเริ่มมีอาการเสพติดหรือยัง” คุณเริ่มสนุกที่จะทำสิ่งเหล่านั้น และมักต้องเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละครั้งจึงจะพอใจ คุณทำสิ่งเหล่านั้นด้วยความเคยชินเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแม้จะแทรกแซงกิจวัตรอื่นๆ ก็ตาม คุณรู้สึกเหมือนขาดบางอย่างในชีวิตไป หากวันไหนไม่ได้ทำสิ่งเหล่านั้น ถ้ามีใครขัดใจหรือมีอุปสรรคทำให้คุณไม่สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ คุณจะโมโหร้ายจนน่าตกใจ เมื่อมีคนตั้งข้อสงสัยว่า “คุณเริ่มติดสิ่งเหล่านั้นเข้าแล้ว” คุณจะไม่พอใจและรีบปฏิเสธทันที คุณพยายามหาข้ออ้างหรือโกหกคนอื่นว่าที่ต้องทำไปก็เพราะความจำเป็นทั้งนั้น คุณมักบอกตัวเองว่า “คุณเลิกมันได้ง่ายๆ” แต่เมื่อพยายามลองเลิกดูจริงๆ กลับทำไม่ได้สักที ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความสัมพันธ์ในครอบครัวเริ่มแย่ หรือสถานการณ์การเงินเริ่มสั่นคลอน เมื่อถูกจับตามองมากขึ้น คุณก็มักแอบทำกิจกรรมนั้นไม่ให้ใครรู้เหมือนคนกลัวความผิด ถ้าคำตอบของคุณคือ “ใช่” มากกว่า 4 ข้อขึ้นไป นั่นหมายถึงว่า อาการเสพติดเล่นงานคุณเข้าให้แล้ว
เสพติด “ไม่ดี” อย่างไร จูดิท ไรท์ บอกว่า ถึงแม้ว่าการเสพติดอ่อนๆ นี้อาจจะฆ่าหรือทำร้ายคุณไม่ได้รุนแรงเท่ากับสิ่งเสพติด แต่ก็สามารถ “บ่อนทำลายชีวิตคุณ” ได้ทีละน้อยๆ เหมือนกัน ที่เห็นชัดเจนได้แก่ความสูญเสียต่อไปนี้
เสียเวลา เวลาที่จัดสรรไว้สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ถูกเบียดบังจนต้องอดนอน หลับใน มาสาย เสียเงิน ใช้เงินเกินความจำเป็น เช่น ค่าช็อปปิ้ง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ฯลฯ เสียเพื่อน เสียพื้นที่ความรักในครอบครัว ใส่ใจอยู่แต่กิจกรรมตรงหน้า ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างลดลงอย่างน่าใจหาย สุดท้ายจะเหมือนอยู่ในโลกส่วนตัวตลอดเวลา เสียโอกาสความก้าวหน้าในการศึกษาและหน้าที่การงาน ทำทุกอย่างอย่างรีบเร่งเพื่อให้ได้ทำกิจกรรมที่เสพติดโดยเร็วที่สุด คนเหล่านี้จึงมักขาดความรอบคอบและการตัดสินใจที่ดี
เสียสุขภาพ พักผ่อนไม่เพียงพอ กินอาหารไม่มีประโยชน์ เครียด ขาดการออกกำลังกาย เสียคน หมดความน่าเชื่อถือ เช่น โกหกบ่อยขึ้น ชอบผัดวันประกันพรุ่ง กลายเป็นคนไม่รู้จักพอ ร้ายยิ่งไปกว่านั้น การเสพติดบางกรณียังอาจทำให้คุณ “เปลี่ยน” เป็นคนละคนทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำ ความเสียหายให้คุณชนิดที่ไม่อาจเรียกร้องกลับคืนมาได้
ดังกรณีของเด็กติดเกมที่ต้องชิงทรัพย์เพื่อหาเงินมาซื้อชั่วโมงเล่นเกม บางคนก็ “อินจัด” จินตนาการว่า ตัวเองอยู่ในเกมถึงขั้นลงมือทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิตก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ หรือการคลั่งศัลยกรรมอย่างหนักจน เปลี่ยนเป็นคนละคน แม้แต่คนใกล้ชิดที่สุดอย่างพ่อแม่ก็จำลูกตัวเองไม่ได้
โรคยอดฮิต “อินเทอร์เน็ตลิซึม!” นิตยสาร New Scientist จากประเทศอังกฤษ เผยถึงโรคกลุ่ม “E-Habits” หรือโรคที่เกิดจากนิสัยการใช้อินเทอร์เน็ตจนเสพติดว่า นับวันจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้โรคยอดฮิตบางส่วน ได้แก่
Crackberry ชื่อเรียกพฤติกรรมรวมๆ ของคนวิตกจริตที่ต้องคอยเช็กโทรศัพท์มือถือ อีเมลตลอดเวลา Egosurfing คนที่มักบอกตัวเองว่า “ใช้เวลานิดเดียว” แต่จริงๆ ใช้เวลาไม่เคยต่ำกว่า 1 ชั่วโมง Blog streaking คนที่ชอบนำข้อมูลส่วนตัวไปเผยแพร่ตามเว็บไซต์สาธารณะจนเกิดอันตราย YouTube narcissism คนชอบอัพเดตคลิปวิดีโอใหม่ๆ ทั้งของตนเองและผู้อื่นเผยแพร่สาธารณะ Cyberchondria คนที่ชอบอ่านข้อมูลทางการแพทย์ในเว็บไซต์แล้ววิตกจริตจิตป่วนตามข้อมูลนั้นๆ Wikipediaholism คนที่ชอบเข้าไปเพิ่มข้อมูลในเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์เสรีต่างๆ ให้ทันสมัยตลอดเวลา
ศัลยกรรมเปลี่ยนชีวิต ฮัน มี อ๊ก อดีตนักร้องสาวสวยเกาหลีที่คลั่งศัลยกรรมอย่างถอนตัวไม่ขึ้น จนกระทั่งแพทย์ปฏิเสธจะทำ ศัลยกรรมให้เธออีกต่อไป เธอจึงตัดสินใจฉีดพาราฟินและน้ำมันที่ใช้ทำอาหารเข้าใบหน้าตัวเองหลายครั้ง ไม่นานนักศีรษะของฮันก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้นจนน่ากลัว สายตาพร่ามัวมองแทบไม่เห็นและไม่สามารถหันศีรษะได้เลย
ปัจจุบันฮันเข้ารับการผ่าตัดกว่า 15 ครั้ง ด้วยความหวังที่จะกลับมามีชีวิตปกติอีกครั้ง แม้จะไม่สวย ไม่มีชื่อเสียงเหมือนแต่ก่อนก็ตาม เพราะเธอได้เรียนรู้แล้วว่า “ความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ความงาม”
ฮัลโหล ฮัลโหล เทเลโฟนลิซึมมาแล้วจ้า องค์กร ASR ของญี่ปุ่น (องค์กรค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์) สำรวจพบว่า ประชากรญี่ปุ่นจำนวน 128 ล้านคน มีวัยรุ่นใช้โทรศัพท์มือถือประมาณ 48 เปอร์เซ็นต์ และในจำนวนนั้นมีคนเป็นโรคเสพติดการใช้โทรศัพท์มือถือถึง 13 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 8,652,800 คน
แต่นั่นยังไม่น่าตกใจเท่ากับที่องค์กร ASR พบว่า เมืองไทยเราน่าจะมีคนเป็นโรคนี้จำนวนถึง 16,582,000 คน ต่อจำนวนประชากร 65 ล้านคน และยังอาจเพิ่มจำนวนขึ้นอีกเรื่อยๆ
นี่เป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาใส่ใจพฤติกรรมการใช้มือถือของตนเองและคนใกล้ตัว เพราะไม่เพียงการติดโทรศัพท์มือถือจะเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นแล้ว พฤติกรรมดังกล่าวยังทำให้ คุณอายุสั้นลงอีกด้วย เพราะต้องเผชิญกับโรคเส้นประสาทคออักเสบเส้นประสาทหูอักเสบ หูน้ำหนวก ฯลฯ
พาตัวเองให้เป็น “ไท” จากอาการเสพติด ดอกเตอร์เดวิด กรีนฟิลด์ (David Greenfield, Ph.D.) ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาการเสพติดอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี สหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะ “หยุด” ความต้องการเหล่านั้น เพราะเป็นเรื่อง ธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทุกคน แต่เราสามารถอยู่ร่วมกับมันได้ด้วยคำแนะนำต่อไป
สำรวจตัวเอง ว่า “ติด” กิจกรรมอะไร เพราะอะไร (ร่างกายต้องการหรือจิตใจต้องการ) รู้ใจตัวเองว่าลึกๆ แล้วความต้องการที่แท้จริงของคุณคืออะไร ประมวลผล คิดเปรียบเทียบผลดี - ผลเสียที่เกิดจากสิ่งเหล่านั้นทั้งในระยะสั้น ระยะยาว เอากฎของสงครามมาใช้ จำลองสถานการณ์ให้ตนเองอยู่ในภาวะบีบบังคับที่ต้องเริ่ม “จำกัด” หรือ “ละการกระทำ” สิ่งเหล่านั้นให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ โดยห้ามฝ่าฝืนกฎนี้อย่างเด็ดขาด ถึงคราต้องเปลี่ยน ลองเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ใหม่ คบหาเพื่อนให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ได้การแลก เปลี่ยนแนวคิดใหม่ๆ ไม่ให้หมกมุ่นอยู่กับความสนใจเดิมๆ หากิจกรรมใหม่ๆ ทำ หาหน่วยสนับสนุน ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเริ่มอาการหนัก ลองคุยกับคุณพ่อคุณแม่ พี่น้อง เพื่อนสนิท หรือไปพบนักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเพื่อขอคำปรึกษาในการแก้ไขอาการนี้จะดีที่สุด สุดท้ายขอให้นึกถึงประโยคที่ว่า “ชีวิตเป็นของเรา เราคือคนกำหนดชีวิตเอง” เพราะฉะนั้น อย่าให้ชีวิตเราต้องยอมสยบอยู่ภายใต้อำนาจของสิ่งหนึ่งสิ่งใด จงรู้ใจตัวเอง ทำในสิ่งที่ต้องการอย่างพอเหมาะโดยยึดหลักทางสายกลางนั่นแหละ...ดีที่สุดKBeautifullife
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|