เช็คสัญญาณอาการสมองป่วย
เพราะอัลไซเมอร์ยังไม่มีวิธีรักษา การป้องกันล่วงหน้าจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ลองเช็ก
สัญญาณส่อสมองป่วยที่อาจช่วยให้คุณและคนที่คุณรักรอดพ้นจากโรคร้ายคุกคามสมองได้ มากันไว้ดีกว่าแก้กันค่ะ

โรคร้ายที่คุกคามสมองทั้งหลาย
โดยเฉพาะ “อัลไซเมอร์” เป็นโรคที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอายุน้อยจะมีโอกาสไม่เป็น
เพราะถ้าคุณมีปัจจัยเสี่ยงของโรค
ครบ ภัยเงียบนี้อาจจะเข้ามาเยี่ยมเยียนได้ก่อนวัยอันควร
ในทางกลับกัน ถ้าคุณรู้วิธีป้องกันก็เป็นเรื่องยากที่โรคนี้จะเข้ามากล้ำกรายได้ อย่างเช่นสถาบันสุขภาพแห่งชาติ
ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่า จะมีความร่วมมือและลงทุนอย่างมหาศาลจากราชการและ
บริษัทประกอบกิจการยา เพื่อสร้างหน่วยงานใหม่ คือ Alzheimer’s Disease Neuroimaging
Initiative โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า “การรักษาโรคอัลไซเมอร์นั้นจะต้องรักษาล่วงหน้าก่อนที่อาการทาง
อัลไซเมอร์จะปรากฏตัวขึ้น” การป้องกันหรือรู้ทันโรคร้ายที่คุกคามสมองจึงจำเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ประกอบกับงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ทิโมธี ซอลต์เฮ้าส์ จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
พบว่า “จากการศึกษาวิจัยกับอาสาสมัคร อายุระหว่าง 18 - 60 ปี จำนวน 2,000 คน นาน 7 ปี พบว่า
ความเข้าใจในการมองภาพรูปทรงต่างๆ และความเร็วในการคิดล้วนลดลงเมื่ออายุ20 ปีตอนปลาย
จึงได้ข้อสรุปว่า ความสามารถทางสมองบางอย่างของมนุษย์ลดลงตามธรรมชาติได้เร็วกว่าที่คิด”
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงอยากชวนคุณและคนรอบข้างมากันไว้ดีกว่าแก้ด้วยการเช็กสัญญาณส่อสมองป่วยกับแบบทดสอบง่ายๆ ต่อไปนี้
แบบทดสอบ “สมองป่วย หมอช่วยด้วย” ทำเครื่องหมาย / หน้าข้อที่คุณรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวคุณหรือคนที่คุณรัก
[ ] มีปัญหาในการสื่อสารกับคนรอบข้าง
[ ] ความคิดฟุ้งซ่าน
[ ] ไม่กระตือรือร้น นอนทั้งวัน
[ ] ทำงานไม่สำเร็จ จับจด
[ ] อารมณ์แปรปรวนง่าย
[ ] ตัดสินใจไม่เฉียบขาด
[ ] หลงลืมสิ่งสำคัญที่ต้องทำประจำวัน
[ ] สูญเสียทักษะความจำระยะสั้นบ่อยๆ
หากคุณหรือคนที่คุณรักมีอาการเหล่านี้เกินครึ่ง ควรพาไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง

พิชิตภารกิจพาคนสนิทไปหาหมอ
ความผิดปกติทางสมองทั้งแปดข้อข้างต้น หากปล่อยไว้อาจลุกลามกลายเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือความจำ
เสื่อม ซึ่งจะกลายเป็นฝันร้ายของครอบครัวฝันร้ายนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับคุณและคนที่คุณรักแน่นอนค่ะ เพียง
ปฏิบัติตาม 4 ขั้นตอนต่อไปนี้กระบวนท่าพลิกวิกฤติเป็นโอกาส
1. กล่อม พูดคุยสบายๆ ว่าอาการที่เป็นนั้นสามารถหายขาดได้ หากได้รับการเยียวยารักษาอย่าง
รวดเร็วทันท่วงที พยายามอย่าลงรายละเอียดในการรักษา เพราะอาจเป็นการทำให้เกิดความกังวลหรือหวาดกลัวเพิ่มมากขึ้นได้
2. แนะนำ สื่อถึงความเป็นห่วงของคุณด้วยการแนะนำข้อมูล หนังสือ ตลอดจนบทความที่มีประโยชน์
ในการดูแลสุขภาพสมอง โดยบทความนั้นควรมีเนื้อหาเบาๆ ไม่เครียดจนเกินไปนัก และสอดแทรกข้อมูล
จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองที่น่าเชื่อถือไว้ด้วย เช่นนิตยสาร ชีวจิต ฉบับที่อยู่ในมือคุณขณะนี้
3. โยนหินถามทาง ฉวยโอกาสขณะสนทนาบางช่วงเพื่อหยิบยกเรื่องราวมาจูงใจให้เขาหันมาสนใจ
สุขภาพสมองและสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น พยายามพูดบ่อยๆ แต่อย่าให้ดูจงใจมากไปนัก โดยเปลี่ยนเนื้อหาที่พูดไปเรื่อยๆเช่น
เล่าเรื่องของคนที่รู้จักซึ่งประสบความสำเร็จในการเยียวยารักษา หรือข้อมูลจาก
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองที่เก่งและไว้วางใจได้
4. วางเฉย หากทำทุกวิถีทางแล้ว แต่ยังไม่สามารถชักจูงให้เขาเข้ารับการรักษาได้ ถึงเวลาที่คุณควรวางเฉยค่ะ
กลยุทธ์นี้อาจช่วยจุดประกายให้เขาหันมาฉุกคิดถึงความห่วงใยที่คุณมีให้และเปลี่ยนใจไปพบ
แพทย์ก็ได้
รู้ทันอาการผิดปกติของสมองและเคล็ดลับดูแลคนที่คุณรักเช่นนี้แล้ว โรคร้ายที่จ้องทำลายสมองก็ไม่มีทาง
มาทำร้ายคุณได้แน่ค่ะ
ขอบคุณเนื้อหาและภาพประกอบจากนิตยสารชีวจิต
KBeautifullife