อย.เตือนการนำลวดเย็บกระดาษมาเย็บกระทงขนม อย.ห่วงใยผู้บริโภคในเรื่องของการรับประทานอาหาร
ที่มีการนำลวดเย็บกระดาษมาเย็บเป็นกระทงขนม ซึ่งลวดที่นำมาเย็บกระทงนั้นอาจตกหล่นไปในอาหาร
ถ้ามีเด็กหรือผู้ที่รับประทานเข้าไปอย่างไม่ทันระวัง อาจทำให้เกิดอันตรายได้ แนะพ่อค้าแม่ค้าหันมาใช้ไม้
กลัดกระทงแทนลวดเย็บกระดาษ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัจจุบันมีขนมไทยและอาหารไม่น้อย
ที่บรรจุในภาชนะที่ใช้วัตถุดิบทางธรรมชาติเพื่อคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ ความสวยงาม เช่น ขนมตาล ขนมกล้วย
ขนมถ้วยโบราณ ขนมตะโก้ แม้กระทั่งห่อหมกที่ยังคงใช้ใบตองในการทำเป็นภาชนะใส่อาหาร แต่ผู้ผลิตอาหารเหล่านี้
บางรายมีการนำลวดเย็บกระดาษ มาใช้ในการเย็บใบตองให้เป็นภาชนะใส่อาหาร ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีความเสี่ยง
ที่จะเกิดอันตรายในการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กที่ไม่ค่อยระวังในการรับประทานมาก
ผู้ใหญ่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าลวดเย็บกระดาษหล่นลงไปในอาหาร
นพ.พูลลาภ กล่าวต่อว่า โดยที่เด็กรับประทานเข้าไปอย่างไม่ระวังลวดเย็บกระดาษ อาจเข้าไปติดที่บริเวณโคนลิ้น
ผนังคอ ต่อมทอนซิลหรืออาจลึกลงไปถึงฝาปิดกล่องเสียง ทำให้เกิดอาการเจ็บคอเวลากลืนนํ้าลายหรืออาหาร
หากโชคดีก็สามารถคายออกมาเองได้ แต่บางรายอาจอันตรายถึงขั้นต้องพบแพทย์เพื่อผ่าตัด
จึงอยากขอเตือนผู้บริโภคให้มีความระมัดระวังในการบริโภคอาหารที่มีลวดเย็บกระดาษติดอยู่
อีกทั้งหากจะซื้ออาหารที่ใช้ลวดเย็บกระดาษให้เด็กหรือผู้สูงอายุรับประทาน ควรเพิ่มความระมัดระวัง
ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยควรนำอาหารเทใส่ภาชนะก่อน แทนการรับประทานอาหารจากถุงหรือกระทง
ที่ใช้ลวดเย็บกระดาษโดยตรง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ตัวท่านเองและคนใกล้ชิด
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวว่า อย.ได้มีการรณรงค์ให้ผู้ผลิต
ใช้วัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ ในการบรรจุอาหารที่ปลอดภัย ได้คุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
แม้การใช้ลวดเย็บกระดาษในการเย็บใบตอง ให้เป็นภาชนะใส่อาหารเป็นสิ่งที่เย็บง่าย หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป
สะดวกรวดเร็วในการผลิต แต่อาจก่อให้เกิด อันตรายต่อผู้บริโภค จึงอยากขอความร่วมมือผู้ผลิตพ่อค้าแม่ค้า
ให้หันมาใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค และใช้วัสดุชนิดอื่น เช่น ไม้กลัด
แทนเพราะเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน หรือเปลี่ยนวิธีการบรรจุอาหาร
โดยบรรจุลงบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ที่มีความปลอดภัยแทนการใช้ลวดเย็บกระดาษ
เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการเกิดอันตรายในการรับประทานอาหาร
และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคอย่าแค่เตือนนะคะ ออกเป็นกฎหมายมาเลย ห้ามใช้ลวดเย็บที่ใส่อาหารที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข